เมื่อเร็วๆนี้นักธุรกิจกว่า 10 รายมีโอกาสร่วมคณะไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) กับรัฐบาลนำโดยดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรอบนี้ทางภาครัฐบาลมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างภาครัฐบาลไทยและลาวหลายฉบับเป็นความร่วมมือหลายๆด้าน มีทั้งด้านการท่องเที่ยว เอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรม
หนึ่งในจำนวนนักธุรกิจที่ร่วมคณะไปด้วย มี จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ WHA (กลุ่มเหมราชเดิม) โดยซีอีโอWHAให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงลู่ทางการลงทุนในสปป.ลาวและความเคลื่อนไหวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี
ซีอีโอ WHA กล่าวว่า ภาคเอกชนที่ไปกับคณะ ก็มีกลุ่มช.การช่าง อิตัลไทย กลุ่มเซ็นทรัล เหล่านี้มีทั้งเข้าไปแล้วและกำลังดูลู่ทางกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมก็มี WHA และกลุ่มอมตะ โดยเอ็มโอยู ระหว่างรัฐต่อรัฐรอบนี้ ที่เห็นก็มีด้านท่องเที่ยว กับเอสเอ็มอี เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้าน SMEs ร่วมกับ 3 องค์กรหลักภาคเอกชน ของ สปป.ลาว ได้แก่ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สมาคมนักธุรกิจแม่หญิงลาว และสมาคมธุรกิจหนุ่มแห่งชาติลาว และยังมี MOU ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริม SMEs สปป.ลาว ซึ่งเป็นการลงนามความร่วมมือหน่วยงานรัฐด้าน SMEs
[caption id="attachment_137709" align="aligncenter" width="503"]
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ WHA[/caption]
++
WHA สนใจลงทุนลาว
ในแง่ของWHA มองว่าสปป.ลาวน่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยพูดถึงกันมาก ตอนนี้ก็มีการพูดถึง One Belt One Road หรือเส้นทางเชื่อมการค้าของจีน (เส้นทางสายไหม) ลาวก็น่าสนใจขึ้นมาทันที เพราะภาพโลจิสติกส์ ทางรถไฟจากจีน มาลาวเชื่อมโยงต่อเนื่องมาถึงไทยเวียดนาม ดังนั้นถ้ามองในภาพของโลจิสติกส์ ก็น่าสนใจ ซึ่งเดิมที WHA ก็มีการลงทุนในประเทศนี้อยู่แล้ว ลงทุนด้านโรงไฟฟ้าขนาด 125 เมกะวัตต์ ลงทุนมาหลายปีแล้ว ซึ่งเราก็มีการร่วมทุนกับรัฐบาลสปป.ลาวด้วยเพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้เข้าไปมาก ถ้าWHAเข้าไปก็มองว่าธุรกิจโลจิสติกส์น่าจะโดดเด่นและการต่อยอดด้านพลังงานรวมถึงทำนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งธุรกิจหลังนี้เรายังไม่ได้เข้าไปลงทุนที่สปป.ลาวเลย ซึ่งตอนนี้ภาพการลงทุนของไทยในลาวที่เคยเป็นอันดับ 1 ตอนนี้ก็เป็นอันดับ 3 โดยจีนขึ้นมาเป็นผู้ลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งนายกรัฐมนตรีสปป.ลาวก็ขอให้ไทยกลับมามองเรื่องการลงทุนให้มากขึ้น
หลังจากนี้ไปจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ที่สปป.ลาว โดยจะใช้เวลาราว 6 เดือนนับจากนี้ไป และต้นปี 2561 น่าจะเริ่มตัดสินใจได้ว่าควรจะเข้าไปลงทุนในกลุ่มไหนก่อน เพราะเวลานี้มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ โดยเบื้องต้นน่าจะโฟกัสไปที่โลจิสติกส์กับพลังงานก่อน ตอนนี้ลาวก็มีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น มีประชากรมากขึ้นก็ต้องนำเข้าพลังงาน ขณะเดียวกันบางเมืองที่ลาวก็มีการส่งออกพลังงานอยู่ด้วย ตอนนี้เมืองเขาขยาย มีประชากร 7 ล้านคน จีดีพีโตสูงกว่าไทย มีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีเขื่อน 400 เขื่อน
++
รัฐปลดล็อกเร่งเครื่อง
สำหรับความคืบหน้าอีอีซี ก็ชัดเจนขึ้นมาก หลังจากที่ใช้ม.44 เพื่อให้เร็วขึ้นในแง่พีพีพี (รัฐลงทุนร่วมกับภาคเอกชน)ให้เป็นซูเปอร์ฟาสต์แทร็กให้เสร็จภายใน 8-10 เดือน เพราะพีพีพีมันมีเรื่องอีไอเอ อีเอชไอเอด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งใช้เวลา เช่นเดียวกับการปลดล็อกเรื่องการถือหุ้นที่ล่าสุดในอุตสาหกรรมอากาศยานที่ยอมให้ต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 50% ก็ทำให้ต่างชาติสนใจมากขึ้น เพราะเขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีคนไทยก็ได้รับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี และเป็นหนึ่งใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่รัฐบาลโปรโมตอยู่
ในแง่ WHA ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วยังไม่ขยับมาก ยังนิ่งๆอยู่แต่เราก็ขายพื้นที่ได้แล้วกว่า 500ไร่ แต่ต้องจับตาไตรมาส 2 นี้ จะน่าสนใจมาก เพราะจะมีลูกค้าเข้ามาพบเรามากขึ้น ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ WHA ปรับเป้าการขายพื้นที่ใหม่จาก 1,000 ไร่ มาเป็น 1,400ไร่ โดยที่ดินเกือบ 100% อยู่ในพื้นที่อีอีซีอยู่แล้ว โดยเรามีที่ดินทั้งหมด 46,000 ไร่ ขายไปแล้ว35,000 ไร่ เรามีที่ดินพร้อมขายอีกราว 11,000 ไร่ ที่สำคัญที่ดินส่วนนี้เราได้อีไอเอแล้ว
++
ไตรมาส 2 สัญญาณดี
สำหรับไตรมาส 2 จะเกิดการโอนที่ดินมาก ขณะนี้มีลูกค้าที่เดินมาหาเพื่อจะลงทุนในอีอีซีจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะกระจายการลงทุนอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ปกติการซื้อขายที่ดิน จะใช้เวลาพิจารณา 5-12 เดือน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ และมั่นใจว่าจะชัดเจนอีกไม่เกิน 5-6 เดือนนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องปรับเป้าใหม่ โดยมั่นใจว่าในช่วงไตรมาส 3 นี้น่าจะทำได้ตามเป้าแล้ว
นอกจากนี้จรีพรยังมองกรณีการเข้ามาเซอร์เวย์ของกลุ่มอาลีบาบา โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมาใช้ไทยเป็นฐานในแง่การเป็นฮับ เพราะเราเหมาะสมในแง่การกระจายสินค้า และเครือข่ายระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิตอล การใช้อินเตอร์เน็ตในบ้านเราก็มาก เหล่านี้จะซัพพอตอีคอม-เมิร์ซได้ และรัฐบาลไทยก็ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ และคิดว่าอาลีบาบา ยังคุยอยู่กับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงข้อกังวลหลังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นโยบายอีอีซี อาจไม่เกิดการสานต่อ ซีอีโอ WHA มองว่ารัฐบาลชุดนี้ฟังเอกชนเยอะขึ้นซึ่งที่ผ่านมาหลายคนก็ถามว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายอีอีซียังเดินต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มองว่าการที่รัฐบาลจะออกกฎหมายและนำเรื่องเข้าไปอยู่ในแผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 12 แล้ว น่าจะทำให้มั่นใจมากขึ้นว่านโยบายต้องเดินหน้าต่อไป แต่เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะออกมาเป็นกฎหมายถ้าตรงนี้เรียบร้อยม.44 ก็ยกเลิกไป ใช้กฎหมายที่มีเดินเรื่องต่อ
“เชื่อว่าต่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็ต้องฟังเสียงภาคเอกชน เพราะนโยบายอีอีซีรอบนี้เกิดจากความร่วมมือของเอกชนเยอะมาก เป็นประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่ประโยชน์จากนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ดังจะเห็นว่าตอนนี้รัฐบาลเร่ง 5 โปรเจ็กต์ที่จะต้องทำก่อน เช่นอู่ตะเภา รถไฟ ท่าเรือ”
ถือว่านโยบายอีอีซีมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะในแง่พื้นที่ กฎหมาย การลงทุนและคนที่มีองค์ความรู้รองรับซึ่งรัฐบาลก็ยอมให้นำเข้าคนที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนของเราร่วมถึงภาคเอกชน เช่น WHA ก็ร่วมกับกระทรวงแรงงานและสถาบันการศึกษาในการเทรนนิ่งคน โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 1 ปีจะต้องเทรนคนจำนวน 1 แสนคนต่อปี ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ขณะนี้มีการเทรนคนแล้วกว่า 6 หมื่นคน โดยเอาคนในพื้นที่รอบๆนิคมอุตสหกรรมมาฝึกอบรม เพราะต่อไปคนจะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560