ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นัดแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลได้รับทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 3% และช่วง 2-3 ไตรมาสหลัง ทิศทางอยู่ในช่วงขาขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าปีนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 4 จะเติบโตดีขึ้นกว่านี้ และคาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้สูงสุดถึง 2.8% ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% อย่างไรก็ตาม รัฐยังมีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ยังไม่ได้พอใจกับตัวเลขเหล่านี้
สำหรับภาพรวมการประชุมได้หารือการประชุมกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวม หลักคิดที่มี คือ ต้องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน กระตุ้นการลงทุน โดยที่ประชุมได้รายงาน 5 ส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร อุปโภคบริโภคของประชาชน และอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่มิติในการพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับมาตรการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าไปแล้ว ได้แก่ สินเชื่อปรับปรุงซ้อมสร้าง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มนี้ขยายตัว 10%
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งภาคเอกชนยังชะลอ จากปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ซื้อ ได้ฝากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูกลไกเข้ามาดูแล ส่วนระยะยาว จะมีมาตรการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ด้วยการปล่อยที่ของรัฐให้ในระยะยาว ผ่านกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ เป็นต้น ซึ่งจะมีรายละเอียดต่อไป
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลได้ทำอยู่แล้ว เช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย การเร่งรัดการลงทุนของ BOI ตัวเลขปีนี้ออกมาดี ระยะยาว จะมีการทำระบบเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เช่น แลนด์บริดจ์ ก็มีการนำเสนอในที่ประชุม และยังมีการดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติด้วยกลไกทางด้านพลังงานสะอาด
ขณะที่ในด้านการเกษตรนั้น ระยะสั้น ได้หารือถึงโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ส่วนระยะยาวจะมีการจัดโซนนิ่งสำหรับเกษตร และจัดทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง เป็นต้น
สำหรับโครงการไร่ละ 1,000 บาทนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจ่ายเงินเท่าไรต่อกี่ไร่ ต้องรอการหารือในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และเสนอครม. ต่อไป อย่างไรก็ดี เราคาดว่าจะจ่ายเงินได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วช่วงปลายปีนี้ หรือถึงต้นปี 2568
"จะใช้งบประมาณจากมาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการก่อน เบื้องต้น จะใช้เงินน้อยกว่าปีที่แล้วจาก 59,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 40,000 ล้านบาท"
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในด้านการท่องเที่ยวนั้น ระยะสั้น มีของขวัญปีใหม่ที่กำลังจะนำเสนอ และมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น การแอ่วเหนือ ส่วนระยะยาวจะเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแฮนด์เมดมากขึ้น รวมถึงสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ด้วย
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ได้หารือถึงการจ่ายเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ แก้ไขปัญหาหนี้สิน อารีย์สกอร์ ซึ่งคณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบ จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ
ส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2 แก่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น คลังมีความตั้งใจจะแจกเงินให้ถึงมือประชาชนเร็วขึ้น ก่อนถึงช่วงตรุษจีน หรือก่อนวันที่ 29 ม.ค.68 โดยกำลังเร่งจัดทำกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สามารถประกาศผลกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ 4 ล้านคนได้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลได้ภายในเดือนธ.ค.67
ขณะที่โครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต ระยะที่ 3 ที่ใช้วงเงินที่เหลืออีก 1.4 แสนล้านบาท คาดจะเริ่มช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.68 หลังจากจัดทำและทดสอบระบบดิจิทัลวอลเล็ตเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยกลุ่มนี้จะได้รับเงิน 10,000 บาท เพื่อใช้ผ่านระบบวอลเล็ตเท่านั้น ไม่มีการแจกเป็นเงินสด ส่วนการลงทะเบียนในรอบกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนได้ กำลังพิจารณา และจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในเร็วๆ นี้ เช่นกัน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่ไว้ให้กับประชาชน แต่ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดที่จะสนับสนุนด้วยมาตรการภาษี อาทิ การลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกันกับที่เคยดำเนินการมา หรือ Easy e-Receipt แต่จะทำมากกว่า 1 ระลอก และเจาะรายกลุ่ม เช่น ภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถนำไปลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น
ด้านนายนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะได้รับการพักชำระดอกเบี้ยให้ 3 ปี จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
"ทั้ง 3 กลุ่มจะต้องเป็นหนี้เสียอายุไม่เกิน 1 ปี และต้องเป็นหนี้เสียภายใน 31 ต.ค.2567 ซึ่งมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท"
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปีนั้น ทางกลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567