โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หรือ นมโรงเรียน กลับมาเป็นเผือกร้อนอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องนมบูด หรือเด็กดื่มนมแล้วท้องเสีย แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งในคณะอนุกรรมการบริหารนมโรงเรียนทั้งระบบ ในคณะกรรมการโคนมและผลิตนม หรือมิลค์บอร์ด ที่ต่างฝ่ายต่างดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งคู่ และมีเหตุผลมุมมองไม่อาจตกลงกันได้ในประเด็นการฟอกนมโรงเรียน จึงไปแจ้งความตำรวจกองปราบปราม ท้ายสุดผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสอบสวน และพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายอ้าง "ฐานเศรษฐกิจ" เป็นสื่อกลางให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา
[caption id="attachment_172272" align="aligncenter" width="503"]
กิตติศักดิ์ เกียรติไกรวัลศิริ[/caption]
-
แจ้งความพิสูจน์ข้อเท็จจริง
นายกิตติศักดิ์ เกียรติไกรวัลศิริ นายกสมาคมผู้ผลิตนมยู.เอช.ที เล่าที่มาก่อนที่ไปแจ้งความกับตำรวจกองปราบปราม ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่า ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด กรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้อำนวยองค์การองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ในฐานะเลขานุการเพื่อให้ตรวจสอบปริมาณขายน้ำนมระหว่างเกษรกร ศูนย์รวบรวมน้ำนมโค และผู้ประกอบการที่รายงานกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกเดือนว่าตัวเลขน่าเชื่อถือหรือไม่ ผ่านมาจนถึงวันนี้ครึ่งปีแล้วไม่มีความคืบหน้าเลย แล้วก็ยังมีการนำน้ำนมโคที่เป็นเท็จมาสำแดงเพื่อขอจำหน่ายสิทธิ์นมโรงเรียนอีก ทางสมาคมจึงได้ไปหารือกับสมาชิก แล้วมีมติในที่ประชุมรับรองให้ไปแจ้งความกับตำรวจกองปราบฯเพื่อให้ดำเนินคดีกับเกษตรกรและโรงนมเอกชน ศูนย์รวบรวมน้ำนม ที่มีการนำน้ำนมโคที่เป็นเท็จมาสำแดงเพื่อขอจำหน่ายสิทธิ์นมโรงเรียนและขอโควตาการนำเข้านมผง
" เรื่องนี้เป็นปัญหาสะสมมานานสร้างความเสียหายให้รัฐบาล ผมต้องการให้ตำรวจกองปราบฯสอบสวนเพื่อหาความจริงให้ปรากฎ รัฐบาลจะได้จัดเก็บภาษีที่ถูกต้องในการนำเข้านมผง วันนี้ทุกคนต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยกระบวนการยุติธรรม โดยที่ประชุมของสมาคมฯ( 28 มิ.ย.60) ได้รับรองมติยืนยันเห็นชอบที่ให้ตำรวจกองปราบฯหาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้เพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินไปแล้ว"
[caption id="attachment_172273" align="aligncenter" width="503"]
นัยฤทธิ์ จำเล[/caption]
-
เรียกทุกโรงนมสอบปากคำ
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย มีเกษตรกรเป็นสมาชิกกว่า 2 หมื่นครอบครัว กล่าวถึงกรณีกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกหมายเรียกเกษตรกรที่เป็นสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ฯ และโรงงานนมเอกชนร่วม 30 ราย(วันที่ 22 มิ.ย. 60) มิให้เป็นพยาน กรณีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU)การซื้อขายนํ้านมโค ปี 2559/2560 และต้องการสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. สำเนารับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลหรือจัดตั้งองค์กร 2.สำเนาบันทึกข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมโคให้แก่คู่ค้า 3.สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายน้ำนมโค และการชำระเงินสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559- 31 พฤษภาคม 2560 เช่นใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งสินค้า เอกสารการรับสินค้า ใบเสร็จรับเงิน เอกสารการจ้างขนส่งสินค้า บัญชีเงินฝากแสดง หลักฐานการโอนเงินค่าสินค้า และการชำระเงินค่าสินค้า เป็นต้น 4.ผู้ซื้อน้ำนมดิบไปผลิตเป็นสินค้าอะไร ผลิตที่ไหน จำนวนเท่าไร ให้แสดงเอกสาร ทั้งหมดรวมทั้งสำเนางบดุล ปี 2559
"ผมจะทำหนังสือถึงตำรวจกองปราบปราบในฐานะประธานชุมนุมฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบสหกรณ์โรงนมเอกชนทั้งหมด เพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ เพราะสงสัยว่าทำไมไม่ตรวจรายใหญ่ที่มีปริมาณน้ำนมโคมาก แต่กลับเลือกตรวจสหกรณ์ และโรงงานเอกชนเล็กที่ได้โควตา 5-10 ตันในโครงการนมโรงเรียนเท่านั้น"
นายนัยฤทธิ์ ยังมองสาเหตุที่ผู้ร้องไปแจ้งตำรวจกองปราบฯในครั้งนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ ที่สมาชิกในสมาคมบางรายโดนลดสิทธิ์ เสียพื้นที่จำหน่าย แต่ในฐานะประธานชุมนุมฯ มองเกษตรกรเป็นหลัก ที่สำคัญวันนี้มีมิลค์บอร์ด มีกติกา ต้องยึดตามกติกาที่ออกมาเช่น นมโรงเรียนปีการศึกษา 2560 เทอม 1 การทำเอ็มโอยู น้ำนมดิบจะต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์ควบคู่กับรายงานจากกรมปศุสัตว์ตรวจปริมาณน้ำนมดิบย้อนหลัง 5 เดือน แล้วถึงจะมาจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่าย ก็เป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรีและปลัดเกษตรที่กล่าวว่าใครทำดีย่อมได้ดี เช่นเดียวกับเกษตรกรต้องการทำน้ำนมคุณภาพเพราะต้องการได้ยอดสิทธิ์นมโรงเรียนเพิ่มถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว ไม่มีทุจริตใด ๆ ทั้งสิ้นผิดจากอดีตที่ผ่านมา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560