“ฐานเศรษฐกิจ” เปิดใจ “พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์”ผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.)ถึงเบื้องหลังคดีเงินทอนวัด ที่ อยู่ในความสนใจของสังคมซึ่งมีขอมูลน่าตกใจว่า พฤติกรรมดังกล่าว”ทำมานับสิบปี” และยังมีพฤติกรรมต้องสงสัย”..ยังมีอีกหลายประเภท”ที่ต้องสอบสวนต่อ รวมทั้งพันธะกิจที่จะทำให้ พศ.มีความน่าศรัทธา
*
คืบหนี้คดีทุจริตเงินวัด
พ.ต.ท.พงศ์พร ตอบคำถามนี้โดยสรุปว่า ส่วนที่ยังเป็นปัญหาขณะนี้ คือการทุจริตเงินวัด ในส่วนที่เรียกกันว่าเงินอุดหนุน ที่มีเจ้าหน้าที่ พศ.เป็นตัวการ สิ่งที่ทำไปแล้วหากเป็นความผิดทางอาญา เราก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ บ้านเมืองที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ. ) ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ) สตง.(สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ) ฯลฯ
พร้อมวางมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ กล่าวคือ ระเบียบว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณให้วัด ที่เริ่มในปีงบประมาณ 2559 ( 1 ตุลาคม 2558 )เป็นต้นมากำหนดให้ การของบประมาณของวัด จะต้องส่งผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ( พศ.จ.) จากนั้นจึงจะส่งคำขอไปคณะกรรมการกลั่นกรองจังหวัด พิจารณาตามเหตุผลความจำเป็น ก่อนจะส่งต่อมายัง พศ.ส่วนกลาง และพศ.จ.เซ็นอนุมัติ โดยจะควบคุมดูแลว่าเบิกจ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ดังนั้นโอกาสที่จะทุจริตเงินทอนจะทำได้ยากขึ้น แต่ไม่ใช่จะไม่เกิดเลย
*
กม.จัดการทรัพย์สินจำเป็น
ส่วนการจะผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ เป็นอีกเรื่อง .สามารถที่จะใช้ร่วมกับระเบียบข้างต้นได้อยู่แล้ว เพราะปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องระหว่างพระกับฆราวาส หรือเจ้าหน้าที่ พศ. เป็นปัญหาที่ระบบการจัดการทรัพย์สินของวัด อีกอันที่เห็นชัดกรณีที่ทุจริตเงินทอน เงินเข้าวัดแล้วสามารถที่จะทอนให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตออกไปได้โดยง่าย ตรงนี้จึงน่าจะมีระบบ เช่นการออกกฎหมาย เพื่อเป็นด่านป้องกันไว้ โดยจะออกโดยสนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ) หรือคณะสงฆ์ที่ออกโดยมหาเถรสมาคม (มส.) ก็แล้วแต่
“การมีกฎหมายก็เพื่อสร้างระบบใน 3 ด้านคือ 1.มีระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ รายรับ-รายจ่ายลงตามความเป็นจริง 2.การควบคุมการตรวจสอบเงินเข้า –ออก ไม่ใช่นึกอยากจะถอนก็ถอนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การทุจริตก็จะทำได้ง่าย และ 3.เมื่อทรัพย์สินเหล่านี้เป็นของวัดไม่ใช่พระ ฉะนั้นเจ้าของที่แท้จริงก็คือประชาชน หากประชาชนต้องการตรวจสอบหรือดูก็ควรที่จะเปิดเผยได้”
*
งบอุดหนุน 2 พันล.เป้าทุจริต
ต่อข้อถามที่ถึงงบประมาณที่พศ.ได้รับจัดสรรแต่ละปี ผู้อำนวยการ พศ. กล่าวว่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยเป็นงบอุดหนุนช่วยเหลือพระประมาณ 4,000 ล้านบาท งบส่วนนี้บางส่วนโอกาสที่จะทุจริตยากมาก เพราะเป็นนิตยภัต หรือเงินเดือนพระ จะระบุตามตำแหน่ง และจำนวนพระไว้อยู่แล้ว แต่งบอุดหนุนที่มีโอกาสจะทุจริตจะมี 3 ส่วนรวม ๆกันเป็นงบประมาณต่อปีราว 2,000 ล้านบาท เป็น
1.เงินเพื่อการปฏิสังขรณ์วัด มีประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี 2. เงินเกี่ยวกับการศึกษาของพระเณร (เงินพุทธศึกษา) ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ส่วนนี้อาจเกิดทุจริตได้แต่ไม่มาก จะมีที่ขาดเหลือ เพราะจะมีชื่อจำนวนพระเณรที่ศึกษา 3. เงินอุดหนุนเพื่อการจัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา 400-600 ล้านบาทต่อปี
“ กรณีเงินทอนตามสถิติที่เห็น คือทอนมากกว่าที่วัดจะได้ คือวัดได้จริงไม่เกิน 1 ส่วน ส่วนอีก 3 ส่วนหรือมากกว่า 75% จะถูกเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตทอนออกไป ( เจ้าอาวาสวัดและเจ้าหน้าที่ พศ. รู้เห็นเป็นใจทุจริต ทำเรื่องเสนอของบประมาณปฏิสังขรณ์วัดสูงเกิน เมื่อพศ.อนุมัติงบแล้ว เจ้าหน้าที่จะเรียกเงินทอนจากวัดคืนในภายหลังเป็นสัดส่วน 75-80 % ของงบที่วัดได้รับ ) คำถามคือถ้าเป็นเช่นนี้ ความเสียหายจากเงินจำนวนมากไม่ได้ตกอยู่กับพระพุทธศาสนา เงินงบประมาณที่ประชาชนเสียภาษี ก็จะสูญเปล่าเพราะไปตกกับตัวบุคคลซึ่งไม่ชอบ”
*
ขยายการสอบสวนวัดเพิ่ม
พ.ต.ท.พงศ์พร ยังกล่าวถึงมูลเหตุการตรวจพบการทุจริตเงินทอนใน 12 วัด ว่าสืบเนื่องจากที่พศ.ได้เข้าไปสุ่มตรวจตามที่สตง. ตั้งข้อสงสัยในเรื่องงบอุดหนุนปฏิสังขรณ์ ก่อนจะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าใน 26 วัดที่สุ่มตรวจ มี 12 วัดที่เข้าข่าย ( จังหวัด (จ.) อยุธยา 1 วัด , จ.ลำพูน 1 วัด ,จ.เพชรบุรี 1 วัด , จ.ชุมพร 1 วัด ,จ.อำนาจเจริญ 3 วัด และจ.ลำปาง 5 วัด) ความเสียหายเบื้องต้น 60 ล้านบาท
ส่วนจะขยายการสอบสอบไปยังวัดอื่น ๆที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะใช้หลักการเดียวกันหรือไม่ เราได้ให้ความร่วมมือทั้ง ป.ป.ป, ป.ป.ช. ,สตง.ฯลฯอย่างเต็มที่ ซึ่งตำรวจได้ขอหลักฐานมาเรื่อย ๆ ล่าสุด ( 27 มิถุนายน 2560 ) ผมเพิ่งเซ็นสังการจัดส่งสำเนาให้ตำรวจสืบสวนต่อ
“ ข้อมูลที่พศ.ให้กับตำรวจคือท่านขอมาทั้งปี เราก็ส่งให้หมดเลย ไม่ได้เป็นการส่งแค่วัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้นตรวจแล้วจะขยายแนวทางตรวจสอบเพิ่มหรือไม่อย่างไร ต้องกลับไปถาม ป.ป.ป. ผมไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงงานที่ท่านทำ “ เขาย้ำ
*
ทำไมไม่มีชื่อ“วัดใหญ่”
ส่วนคำถามที่สังคมคาใจว่าวัดที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย ทำไมไม่มีวัดใหญ่ และเหตุใดวัดใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯมีงบบริจาคอยู่แล้ว ทำไมยังต้องจัดสรรงบประมาณให้ ผู้อำนวยการ พศ. กล่าวว่าประเด็นการทุจริตที่พบจะเป็นหลักการที่ว่า เจ้าหน้าที่ พศ. (มีเจตนาทุจริต ) กับเจ้าอาวาส พูดกันแล้วรู้เรื่อง (สมยอม) จึงยอมเชื่อและทำตามเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นจะถามว่าโอกาสที่จะทำในลักษณะเดียวกัน จะเป็นวัดใหญ่ หรือวัดเล็ก ตอบไม่ได้ เพราะมีวัดเล็กที่เจ้าหน้าที่พศ.ไปพูดลักษณะนี้ แต่เจ้าอาวาสไม่เชื่อ ไม่อยากเป็นเครื่องมือ ยอมคืนเงินหมด ไม่ทำความผิดเลยก็มี
*
ดำเนินคดีกับ จนท.
หากไม่ใช่คดีอาญา ทางพศ.ต้องใช้คณะกรรมการสืบสวน ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้มูลมาก่อน จากนั้นจึงตั้งคณะกรรมการทางวินัย ซึ่งกระบวนสืบสวนไม่ยาก เพราะมีผู้สอบให้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ข้อมูลจากทางตำรวจ , ปปช. ถึงสามารถเอามาดำเนินการทางวินัยได้ ซึ่งการจะสั่งพักราชการตามข้อกำหนดของกพ. ต้องดูว่ากระทบต่อพยานหลักฐานไหม หรือทำให้งานเสียหายหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ยังต้องให้ทำงานต่อ โดยในคดี 12 วัดมีเจ้าหน้าที่พศ.ที่เกี่ยวข้อง 4 ท่าน ซึ่ง 2 ท่านยังปฏิบัติราชการอยู่
*
“เงินทอนวัด”ทำมานานแล้ว ?
พ.ต.ท.พงศ์พร ตอบคำถามนี้ว่า “ข่าวว่าทำกันมานานเป็นสิบปี ตั้งแต่งตั้งกระทรวงศึกษาธิการ แต่ว่าจะมากน้อยเพียงไหน ไม่มีใครรู้จับไม่ได้ อันนี้ที่ได้ยินจากข่าวนะ “ ผอ.พศ. ยังกล่าวต่อว่า “เท่าที่ทราบไม่มีแก๊งใดแก๊งหนึ่ง เพราะเปลี่ยน ผอ.พศ.มาแล้วถึง 7 คน และไม่ใช่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วเงินก็มีหลายประเภท ( เงินอุดหนุน) ที่เราพูดไปเงินปฏิสังขรณ์วัด ยังไม่พูดถึงเงินอีก 2 ประเภท ส่วนรูปแบบในการสอบสวน ว่าเอกสารเงินที่ได้มาเป็นรายงานเท็จ ถือว่ามีความผิดแล้ว เช่นพระที่มาร่วมกิจกรรมมีกี่รูป แต่ในความเป็นจริงจะเอาให้โอนเงินก่อน และไปจัดกิจกรรมภายหลังออกพรรษา แต่ตอนเข้าพรรษา พระจะไปบวช แต่การบวชของพระเป็นการบวชตามประเพณี เงินที่น่าสงสัยคือ ทำไมไม่จัดกิจกรรมตั้งแต่ตอนเบิกงบ แต่มาจัดกิจกรรมตอนหนัง อันนี้เป็นเทคนิค คือพอเงินงบประมาณมาก็จะรีบโอน ไปก่อน ทำไมไม่โอนไปตอนที่ใช้ ซึ่งบางวัดไม่จัดเลย แต่เจ้าหน้าที่รู้ก้นก็ไม่ตามทวง ความจริงต้องกำหนดไปเลยว่า ถ้าวัดไม่จัดกิจกรรมภายในเวลานี้ จะเรียกเงินคืน ถ้าเรากำหนดไปตรงนี้ ผมเชื่อว่าจะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ..”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560