กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงประเด็นที่มีผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทย นำชื่อ “Riceberry” ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ โดยกรมฯ ระบุว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถยื่นคัดค้านหรือขอเพิกถอนการจดทะเบียนได้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและทำการตลาดสินค้าข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานการรับรองข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองในต่างประเทศ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา(ทป.) เปิดเผยถึง กรณีที่เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “Riceberry” ในต่างประเทศ โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งยื่นเรื่องไปยัง EUIPO (European Union Intellectual Property Office) เพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในการส่งออกข้าวดังกล่าวไปยังตลาดยุโรปกว่า 28 ประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทย ซึ่งเป็นผู้คิดค้นพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมถึงเกษตรกรไทยอีกเป็นจำนวนมากนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า พันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Rice berry) ซึ่งคิดค้นขึ้นโดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืช กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560
โดยในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “ไรซ์เบอร์รี่” และ “RiceBerry” ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว 4 คำขอ ได้แก่ คำขอเลขที่ 821133 821134 821135 และ 821136 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ในจำพวก 30 รายการสินค้าข้าว ส่งผลให้ ผู้อื่นไม่สามารถนำคำว่า “ไรซ์เบอร์รี่ Rice berry” มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยได้อีก เนื่องจากขัดต่อมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ เพราะเป็นคำที่บรรยายถึงลักษณะของสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับพันธุ์ข้าว และขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เพราะเหมือนคล้ายกับคำขอที่จดทะเบียนไว้แล้วโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“กรณีดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากมีผู้ซึ่งไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทย นำชื่อ “ไรซ์เบอร์รี่ Riceberry” ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ ซึ่งแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ คือ เมื่อมีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถใช้สิทธิคัดค้านการจดทะเบียนได้ และหากเครื่องหมายการค้านั้นได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถร้องเพิกถอนการจดทะเบียนได้เช่นกัน”
“การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ในต่างประเทศ ควรจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรอง ซึ่งการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองต้องมีการยื่นข้อบังคับประกอบคำขอจดทะเบียน โดยข้อบังคับดังกล่าวเป็นการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการข้าว ประกอบกับต้องมีการกำหนดมาตรฐานในข้อบังคับที่ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานบริหารจัดการและทำการตลาดสินค้าข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเป็นคณะทำงานด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานเพื่อใช้เป็นข้อบังคับในการรับรองข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ และสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นผู้จดทะเบียนในต่างประเทศจะต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการรับรองมาตรฐานพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้” นายทศพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่มีผู้อื่นไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Rice berry ในต่างประเทศแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่า คนไทยยังสามารถส่งข้าวไรซ์เบอร์รี่สายพันธุ์ไทยไปขายในต่างประเทศได้ เพียงแต่อย่าส่งไปขายภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผู้อื่นยื่นจดทะเบียนไว้แล้ว