เปิดแผนงานกระทรวงเกษตรฯปี 68 เพิ่มรายได้เกษตรกร ปลูกพืชศก.ตอบโจทย์ตลาดโลก

09 ม.ค. 2568 | 04:36 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2568 | 04:36 น.

เปิดแผนงานกระทรวงเกษตรฯปี 68 เพิ่มรายได้เกษตรกร ปลูกพืชศก.ตอบโจทย์ตลาดโลก พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มุ่งรณรงค์ให้ลดและยกเลิกการเผา

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม เปิดเผยถึงเป้าหมายการทำงานในปี 2568 ว่า ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหลักของเกษตรกร เช่น ความยากจน และการขาดที่ดิน โดยเป็นการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ดำเนินการไว้ เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ควรได้สิทธิครอบครองที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

ทั้งนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำนั้น ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เกษตรกรจะต้องรอน้ำในช่วงฤดูฝนสำหรับการเพาะปลูกและบางพื้นที่ก็ฝนตกน้อยมาก หากยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ หรือเครื่องมือในการกักเก็บน้ำเพียงพอ ก็จะส่งผลในระยะยาวทำให้น้ำแล้ง 
 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงเกษตรได้บรรจุแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในแผนของกรมชลประทาน โดยแผนระยะยาวจะเริ่มในปี 2570-2580 ส่วนแผนระยะสั้นจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 ซึ่งจะมีทั้งหมด 300 กว่าโครงการทั่วประเทศ สาเหตุที่บางโครงการจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานหรือเริ่มต้นนานนั้น เนื่องจากบางพื้นที่ก็ต้องมีการไปขออนุญาตการใช้พื้นที่หรือต้องมีการขอเวนพื้นที่คืน หรือบางพื้นที่ถ้าไปแตะแล้วก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองทันที แต่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะผลักดันโครงการการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เปิดแผนงานกระทรวงเกษตรฯปี 68 เพิ่มรายได้เกษตรกร ปลูกพืชศก.ตอบโจทย์ตลาดโลก

ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละอองมลพิษ 2.5 หรือฝุ่น PM2.5 ด้วยว่า จะต้องบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้รณรงค์ให้เกษตรกรลดและยกเลิกเผา โดยไม่ใช่การไปบังคับแต่ต้องหาทางออกให้ด้วย เพราะหากไม่ใช้การเผาก็จะทำให้ต้นทุนการดำเนินการทางการเกษตรสูงขึ้น 
 

ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายดังกล่าวไป และได้ดำเนินการไปให้ความรู้กับเกษตรกร และอีกแนวทางหนึ่งที่ได้ดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ ปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งมีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากขึ้น โดยปัจจุบันจะใช้วิธีการนำตัวฝนหลวงไปเจาะชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ก่อนที่จะลงมือทำ จากประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการในหลายพื้นที่มาถือว่าประสบความสำเร็จและสามารถลดค่าฝุ่น PM2.5 ให้กับพื้นที่เหล่านั้นได้ถึง 50% ซึ่งก็จะดำเนินการต่อเนื่อง

"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพยายามดำเนินการทุกโครงการที่เป็นประโยชน์และทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยดีขึ้น เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกหลากหลายรูปแบบ หรือพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ,ถั่วเหลือง ,โกโก้ และกล้วยหอมทอง ที่ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงที่ต่างประเทศมีความต้องการสูง จึงต้องส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเหล่านี้ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก เพราะจะสามารถสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรฯ"