GIT รณรงค์ขาช็อปซื้ออัญมณีที่ผ่านการรับรองจากสถาบัน

16 ส.ค. 2560 | 05:33 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2560 | 12:33 น.
สวอ.รณรงค์ขาช็อปซื้ออัญมณีที่ผ่านการรับรองจากสถาบัน ป้องกันการถูกหลอกสูญเงิน

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สวอ.หรือ GIT กล่าวว่า สถาบันเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพของอัญมณีและเครื่องประดับเพียงแห่งเดียวในประเทศที่เป็นของรัฐและได้รับมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่ที่ผ่านมาพบผู้บริโภคที่ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไป ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองจาก GIT  บางคนอาศัยซื้อจากร้านที่คิดว่าเชื่อใจได้เพราะได้รับการบอกต่อๆกันมา ทั้งๆที่สินค้าไม่ผ่านการรับรองจาก GIT และเมื่อนำมาตรวจสอบภายหลังก็พบว่าสินค้าที่ซื้อมานั้นไม่ได้มาตรฐานหรือคุณภาพตามที่ผู้ขายโฆษณาไว้ ทำให้สูญเงินไปจำนวนมาก เกิดการฟ้องร้องกันตามมา ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันได้รับการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นสถาบันจึงมีโครงการรณรงค์ให้ผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไปเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับการรับรองจาก GIT เท่านั้น และหากมีสินค้าในครอบครองอยู่แล้วก็ขอให้นำมาตรวจสอบกับ GIT ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่านำไปตรวจสอบกับศูนย์ของเอกชนถึง 50-60% โดยในแต่ละปีสถาบันได้ตรวจสอบคุณภาพของอัญมณีและเครื่องประดับไปกว่า 20,000 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับรองในส่วนของการส่งออกไปต่างประเทศ ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่ค่อยนำสินค้ามาให้ตรวจสอบมากนัก

นางดวงกมล กล่าวอีกว่า ดังนั้นในวันที่ 16 ส.ค.นี้ สถาบันจะเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปนำอัญมณีและเครื่องประดับมาตรวจสอบคุณภาพกับสถาบัน โดยจะเริ่มจากการเชิญบรรดาเซเลบิตี้ที่เป็นที่รู้จักกว่า 20  คน นำอัญมณีและเครื่องประดับมาให้สถาบันตรวจสอบ เช่น นางอินทิรา ธนวิสุทธิ์ นางอุษณีย์ มหากิจศิริ  ดร.อารียา อัศวานันท์  นางกรองกาญจน์ ชมะนันทน์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการตื่นตัวในกลุ่มของผู้ที่สนใจซื้อ สะสมอัญมณีและเครื่องประดับให้เลือกซื้อสินค้าที่ผ่านการรับรองจาก GIT มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอก สูญเงินภายหลังจากการที่ได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพสมราคา  นอกจากกลุ่มเซเลบิตี้แล้วก็จะเปิดอบรมการเลือกซื้ออัญมณีให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้ประกอบการนำเที่ยว ให้นำนักท่องเที่ยวไปเลือกซื้อสินค้าจากร้านที่สินค้าได้รับการตรวจสอบจาก GIT เท่านั้นซึ่งจะเป็นการรักษาชื่อเสียงของประเทศในฐานะประเทศที่ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก

นางดวงกมล กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีส่วนในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจถึง 5.6% ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากโดยอัญมณีและเครื่องประดับไทยส่งออกมากเป็นอันดับ3 รองลงมาจาก ยานยนต์  และอิเล็กทรอนิกส์ โดยปี 2559 ส่งออกไปได้ถึง 14,000 ล้านเหรียญหรือ กว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้ก็คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าเดิมโดย 6 เดือนแรกส่งออกไปแล้วมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท