กยท.ดิ้นแก้ราคายางเปิดดีลใหม่ ยางแลกปุ๋ยเคมีรัสเซีย 3 หมื่นตัน สั่งบียูผนึก108 ตลาดท้องถิ่นปูพรมซื้อยางก้อนถ้วย ป้อนโรงงานอีสานนำร่อง ดันต่อส่งมอบยางเหินฟงเรง่ บริษัทร่วมทนุ ฯ ซื้อชี้นำตลาด1-2 บาทต่อกก. 3 ปีรัฐบาลจ่ายแทรกแซงแล้ว 3.5 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กยท.ได้มอบให้นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการ กยท.ไปเป็นผู้เจรจาหารือในระดับเจ้าหน้าที่ไทย-รัสเซียในโครงการยางพาราแลกปุ๋ยเคมี เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่และอีกด้านหวังใช้ลดข้อครหาเรื่องการประมูลปุ๋ยเคมีให้กับชาวสวนยางที่หลายฝ่ายมองว่าไม่โปร่งใสราคาสูงกว่าตลาด และส่งมอบล่าช้ากว่าจะถึงมือเกษตรกร ทั้งนี้โดยปกติ กยท.จะต้องมีการจัดหาปุ๋ยเคมีให้กับเกษตรกรทุกปี ปีละ 3 หมื่นตัน หากโครงการนี้สำเร็จจะช่วยลดซัพพลายยางในประเทศ ถือเป็นโครงการที่วิน-วิน
นายสังข์เวิน ทวดห้อยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวถึงแผนของบียู หรือหน่วยธุรกิจ ของ กยท. ว่า จะร่วมกับตลาดท้องถิ่นของ กยท. 108 ตลาด เปิดจุดซื้อนํ้ายางก้อนถ้วยแห่งแรกที่จังหวัดหนองคาย เพื่อส่งมอบให้กับโรงงาน 4, 5 และ 6 ของ กยท.ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะชี้นำราคา 1-2 บาทต่อกิโลกรัม หากสำเร็จจะไปเปิดที่ภาคเหนือ และภาคใต้ต่อไป ส่วนการส่งมอบยางให้บริษัท เหินฟง จำกัดจาก จีนนั้นได้ส่งมอบไปแล้ว 3 รอบรวมทั้งสิ้น 1.2 พันตัน ส่วนบริษัทร่วมทุนยางพารา จำกัด นั้นบอร์ดได้ให้ไปประมูลยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันแข่งกับพ่อค้าในราคาชี้นำตลาด 1-2 บาทต่อกิโลกรัม เชื่อว่า 3 เดือนก่อนปิดกรีด ราคายางจะปรับตัวดีขึ้น
ส่วนโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 8กระทรวงในปีงบประมาณ 2560ที่มีความต้องการใช้ยาง จำนวน2.8 หมื่นตันนั้น โดยกระทรวงมหาดไทย ต้องการสูงสุดถึง 2.12 หมื่นตันนั้นยังไม่คืบหน้า
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยว่า กยท.ได้ส่งเงินกู้ 2 โครงการแทรกแซงยาง ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง(รัฐบาลยิ่งลักษณ์) (เงินกู้ 2.1 หมื่นล้านบาท) และ 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ฟันด์(รัฐบาลปัจจุบัน)วงเงิน 8,892 ล้านบาท โดยซื้อปริมาณยางรวม 3.1 แสนตัน ได้คืนเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.แล้ว 5,963ล้านบาท ปัจจุบันเหลือยางในสต๊อกกว่า 9 หมื่นตัน ที่ผ่านมาทางรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มี 16มาตรการที่ออกมาช่วยแก้ปัญหาราคายาง โดยใช้วงเงิน 7.85หมื่นล้านบาท(กราฟิกประกอบ)เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาท (วันที่ 26ส.ค.57) ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2560 อนุมัติเงินกู้จำนวน 169 แห่ง วงเงิน1,781 ล้านบาท จากยังมีปัญหาพื้นที่ที่สถาบันเกษตรกรประสงค์จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของส่วนราชการหรือที่สาธารณะอุตสาหกรรมจังหวัดไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงาน เป็นต้น
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง 2 ม็อบชาวสวนยางที่บุกมายื่นข้อเรียกร้องนั้น ล่าสุดส่งเรื่องให้ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ กยท. (บอร์ด) ตั้งกรรมการสอบ นายธีธัช สุขสะอาดผู้ว่าการภายใน7วันต้องทราบผล
แหล่งข่าวหนึ่งในบริษัทเอกชนยางรายใหญ่ที่ร่วมลงทุนกับ กยท. กล่าวว่า อยากจะถอนหุ้นเพราะเป็นข่าวเชิงลบ มองว่าการบริหาร กยท.ที่จะไปซื้อตลาดในแต่ละวันอาจจะเอื้อบางกลุ่มจริงอย่างที่เป็นข้อกล่าวหาอีกด้านหนึ่งก็มีผู้ถือหุ้นสนับสนุนอยากให้โครงการนี้เดินต่อเพราะเชื่อว่าได้ผล แต่พอกยท.นำไปปฏิบัติก็ผิดพลาด ทำให้ต้องปิดตลาดยางพารา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560