รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 67 ถึง “สถานการณ์แรงงาน” เนื้อหาระบุว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในไตรมาสสาม ปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของแรงงานในหลายภาคส่วน โดยมีผู้มีงานทำจำนวน 40.0 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสสามของปี 2566 เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1
แม้ว่าการจ้างงานโดยรวมจะค่อนข้างทรงตัว แต่การเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่าง ๆ สะท้อนถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาอุทกภัย การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการจ้างงาน
การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงถึง ร้อยละ 3.4 จากไตรมาสสามของปีก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญคือสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกในหลายภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ อีกทั้งความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังกดดันรายได้ของเกษตรกร
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในชนบทที่แรงงานบางส่วนย้ายออกไปทำงานในภาคนอกเกษตร เช่น ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ส่งผลให้การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องในระยะยาว
ในทางกลับกัน การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวได้ถึง ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดคือ การขนส่งและการเก็บสินค้า ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 14.0 สะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง
กลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องถึง ร้อยละ 6.1 อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและการเปิดประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในส่วนของ ภาคก่อสร้าง แม้จะขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.7 แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญในเขตเมืองที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
การจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง ร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนจากฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ไปสู่โซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) และการเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องการชิ้นส่วนและแรงงานที่มีทักษะสูงมากขึ้น
ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงและตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเป็น 47.4 ชั่วโมง หรือร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่แรงงานในภาพรวมมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 43.3 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 การทำงานล่วงเวลาของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8
ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อต้นปี 2567 โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมของกลุ่มแรงงานในระบบ (ตามการจัดเก็บแบบเดิม) อยู่ที่ 15,718 บาท ต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสาม ปี 2566 ร้อยละ 1.8
ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมที่รวมกลุ่มแรงงานอิสระอยู่ที่ 16,007 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชน อยู่ที่ 14,522 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2.7
จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ 410,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน ร้อยละ 1.02 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 0.99)
อย่างไรก็ตาม การว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 16.2 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 20-29 ปีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงาน
ที่มาข้อมูล : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3