‘ซานตาเฟ่’ปรับตัวรับค่าแรง ลดขนาดสาขา-ปรับราคาอาหารเป้าสิ้นปีโกย2,000 ล้าน

03 ก.พ. 2561 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2561 | 14:20 น.
ซานตาเฟ่เปิดแผนบริหารจัดการต้นทุนทั้งลดพื้นที่สาขา ปรับราคา หลังค่าแรงขึ้นดันต้นทุนพุ่งกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมทุ่ม 200 ล้านบาท ขยายสาขา/อัดโปรโมชัน-เมนูใหม่ตลอดทั้งปีรับตลาดร้านอาหารแข่งดุ วางเป้าสิ้นปีโกยยอดขาย 2,000 ล้านบาท

นายสุรชัย ชาญอนุเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสเต๊ก ภายใต้แบรนด์ “ซานตาเฟ่ สเต๊ก” เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะเน้นการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ภายหลังจากที่ภาครัฐประกาศปรับขึ้นค่าแรงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนที่มาจากค่าแรงพนักงาน 23% ค่าวัตถุดิบ 40% ค่าเช่าพื้นที่กว่า 20% และอื่นๆ 5% โดยในปีนี้ได้มีการปรับขึ้นราคาเมนูอาหารเฉลี่ย 3-5% หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

[caption id="attachment_255240" align="aligncenter" width="503"] สุรชัย ชาญอนุเดช สุรชัย ชาญอนุเดช[/caption]

“แม้ต้นทุนที่มาจากค่าแรงจะไม่ได้มากที่สุด แต่ทว่าหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าแรงส่งผลให้ต้นทุนภายในร้านสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้บริษัทต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนให้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนพนักงานที่มีกว่า 3,000 คนในปัจจุบันซึ่งมีค่าใช้จ่าย 20 ล้านบาทต่อเดือน และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น 5% หรือคิดเป็น 1 ล้านบาทต่อเดือน”

พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมงบประมาณในปีนี้ทั้งสิ้น 200 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่ใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 140 ล้านบาท เพื่อรองรับการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นงบประมาณการตลาด 100 ล้านบาทไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชันพร้อมเมนูใหม่ 2 ครั้งต่อเดือน ตลอดทั้งปี และอีก 100 ล้านบาทในการขยายสาขาเพิ่ม 20 แห่งแบ่งเป็นสาขาที่ลงทุนเอง 10แห่งและแฟรนไชส์ 10 แห่ง ส่งผลให้บริษัทจะมีจำนวนสาขาในสิ้นปีนี้ทั้งสิ้น 123 แห่งทั้งนี้รูปแบบการขยายสาขานับจากนี้ลดขนาดของสาขาลงโดยมีขนาดตั้งแต่ 120-140 ตร.ม. จากเดิมที่มีขนาดตั้งแต่ 120-200 ตร.ม. เนื่องจากทำให้บริหารจัดการด้านต้นทุนได้ง่ายกว่า ในยุคที่ธุรกิจร้านอาหารภายในศูนย์การค้ามีการแข่งขันสูงจากอดีตที่มีเพียง 10 ร้าน จนปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า70ร้านภายในศูนย์การค้า 1 แห่งส่งผลให้กำไรของบริษัทเหลือเพียง 7-8% จากในอดีตที่มีกำไร 10% ขณะที่เทรนด์การเติบโตในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยมองว่า ร้านอาหารในเซ็กเมนต์ปิ้งย่าง ประเภทต้ม และร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่มาแรงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของบริษัทได้เตรียมพัฒนาแบรนด์ใหม่ในเครือขึ้นช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ในกลุ่มดังกล่าวหรือเซ็กเมนต์ที่มีโอกาสทางการเติบโตในอนาคต เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย

728x90-03-3-503x62-3-503x62 นอกจากนี้ยังมีแผนขยายตลาดเข้าไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชาลาว เมียนมาและเวียดนาม ในรูปแบบแฟรนไชส์ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มต้นแผนงานดังกล่าวได้ในประเทศกัมพูชาและเวียดนามก่อนเนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเติบโตอีกทั้งยังมีทำเลที่อยู่ใกล้เคียงประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าจะจบการเจรจาร่วมกับพาร์ตเนอร์ได้ในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้และเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส4นี้ โดยมองว่าในช่วง 3 ปีนี้จะสามารถขยายสาขาได้ 3 แห่ง

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 25% หรือคิดเป็นรายได้ 2,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 1,650 ล้านบาท นอกจากนี้ยังวางแผนในการพาธุรกิจเข้าไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในสิ้นปี 2562 อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว