"มสธ." ดึงอัตลักษณ์ GI ยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่-วิสาหกิจชุมชน 3 จ.ชายแดนใต้

25 ธ.ค. 2567 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 03:59 น.

"มสธ." ดึงอัตลักษณ์ GI ยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่-วิสาหกิจชุมชน 3 จ.ชายแดนใต้ มุ่งเพิ่มพัฒนาศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืน สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พนมพัทธ์ สมิตานนท์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ 

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านการเพิ่มพูนความรู้ด้าน ทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการสร้าง เครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economy) ผ่านการนำแนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มาประยุกต์ใช้

"โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยศักยภาพและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม"

โดยเชื่อว่าการพัฒนาผ่านองค์ความรู้ที่ครอบคลุม ทั้งด้านทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างตราสินค้าจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหวังว่าผลลัพธ์จากการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับทั้งชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ"

"มสธ." ดึงอัตลักษณ์ GI ยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่-วิสาหกิจชุมชน 3 จ.ชายแดนใต้

ผศ. ดร. ภาวิน ชินะโชติ ประธานกรรมการประจำสาขาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช กล่าวว่า การส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

รวมถึงการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์จากกลุ่มสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) จะช่วยยกระดับชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างแข็งแรง ยั่งยืน 

พลตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า  การที่โครงการเลือกพัฒนาสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อต่อยอดและส่งเสริม จะช่วยให้สินค้าชุมชน สามารถไปต่อในตลาดได้ง่ายขึ้น

ซึ่งหลังจากผ่านกระบวนการของโครงการแล้ว ผู้ประกอบการ เกษตรกรจะมีความรู้เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงเครื่องหมายการค้า 

"การส่งเสริมความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชุมชนในอนาคต"