หน่วยงานทั้งไทยและญี่ปุ่น ยืนยัน ปลาสดนำเข้าจาก จ.ฟุกุชิมะ ผ่านการตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
จากการรายงานข่าวของสื่อญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า ปลาสดล็อตแรก ซึ่งเป็นปลาในกลุ่มปลาตัวแบน (Flatfish) หรือ ปลาซีกเดียว (ปลาตาเดียว ปลาลิ้นหมา ฯลฯ ก็อยู่ในกลุ่มตระกูลนี้) ปริมาณรวม 110 กิโลกรัม ที่ส่งออกจาก จ.ฟุกุชิมะ ออกจากท่าเรือโซมะ ประเทศญี่ปุ่น มาถึงประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
นับเป็นการส่งออกปลาทะเลครั้งแรกของฟุกุชิมะ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติกัมมันตรังสีรั่วไหล เมื่อปี 2554 สะท้อนความหวังและความมั่นใจของอุตสาหกรรมประมง ว่า จะกลับฟื้นชีพอีกครั้งและกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่
แต่เมื่อข่าวดังกล่าวปรากฏออกมา กลับก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย จากการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะ
ที่ระบุว่า มีการจัดส่งให้กับลูกค้าร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ 12 ร้าน จนมีการถามหาว่า เป็นร้านอะไร ที่ไหนก็ขายปลาจากฟุกุชิมะ
หน่วยงานของฟุกุชิมะ ชี้แจงว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2558 เป็นต้นมา การสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารทะเลของจังหวัด พบว่า ซีเซียม (Cesium) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่น คือ ไม่เกิน 100 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ จ.ฟุกุชิมะ ยังตั้งมาตรฐานของตัวเองไว้สูงกว่ามาตรฐานข้างต้น เพราะเพียงแค่ตรวจพบซีเซียมในอาหารทะเลเกิน 50 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม ก็จะงดส่งออกในทันที
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้รับรายงานว่า มีการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าชุดดังกล่าวแล้ว โดยมาตรฐานในการตรวจสอบการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับผิดชอบติดตามตรวจสอบเรื่องปริมาณสารกัมมันตรังสีในอาหาร
ขอยืนยันว่า การนำเข้าปลาจากทุกประเทศ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมงตรวจสอบเข้มงวดอยู่แล้ว
ด้าน น.พ.วันชัย ลัดยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า ทาง อย. ได้ถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปให้กระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สินค้าประมง เนื้อสัตว์ ปศุสัตว์ อาหารทะเล ถั่วธัญพืช เครื่องเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2549 โดยมาตรการควบคุมอาหารที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี มี 2 มาตรการ ได้แก่ 1.กำหนดปริมาณการปนเปื้อน เช่น ให้ปนเปื้อนไอโอดีน -131 ไม่เกิน 100 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม -134 และซีเซียม -137 รวมกันไม่เกิน 500 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม 2.กำหนดชนิดอาหารและพื้นที่เสี่ยงในการนำเข้าจะต้องมีหลักฐานในการระบุประเภทปริมาณอาหารจากประเทศต้นทาง แสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้ง
น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรมประมงอนุญาตให้นำเข้าเพียงแค่ดูใบการันตี โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรใช่ไหม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลอาหารนำเข้า
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8-10 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
ญี่ปุ่นยันตรวจเข้มปลาฟุกุชิมะ เตรียมส่งออกทั่วอาเซียน
●
อย. ลุยตรวจสอบร้านอาหาร 5 แห่ง ใน กทม. หาสีและเชื้อก่อโรคที่ผสมในปลาดิบ