ช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นการขยับตัวของยักษ์ใหญ่นํ้าเมาอย่าง “สิงห์” หลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแผนลงทุนในกลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ การเปิด “Singha Ventures” โดยภูริต ภิรมย์ภักดี ทายาทของนายสันติ ภิรมย์ภักดี ล่าสุดเป็นอีกหนึ่งทายาท ที่เบนเข็มมานั่งคุมกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชนของเครือบุญรอดบริวเวอรี่ อีกบทบาทของ “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจซัพพลายเชน และกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กับอีกก้าวย่างของธุรกิจ “ฟู้ด แฟคเตอร์” ที่จะต่อยอดจากเครื่องดื่มสู่ธุรกิจอาหาร
++3 ปีปั้นยอดขาย 1.5 หมื่นล.
“ปิติ” กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยนำบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรส และอาหารพร้อมทาน, บริษัท มหาศาล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจข้าว ตราพันดี เป็นต้น บริษัท เอส คอมพานี (1933) จำกัด ผู้ดูแลร้านเอส 33 (EST.33) เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของ FOOD FACTORS เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและสร้างสินค้าในการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจหลักของกลุ่มซัพพลายเชนประกอบไปด้วย บริษัท เอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด ดำเนินธุรกิจทางด้านดิจิตอล , บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด และบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด (อยู่ระหว่างการจดทะเบียน)
[caption id="attachment_269291" align="aligncenter" width="503"]
ปิติ ภิรมย์ภักดี[/caption]
สำหรับแผนงานในช่วง 3 ปี (ปี 2561-2563) บริษัทวางกรอบการลงทุนไว้ที่ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนใน บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในวงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท และลงทุนในบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ในกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชน 2,500 ล้านบาท และวางเป้าหมายรายได้รวม1.5หมื่นล้านบาท หลังจากนี้แผน 3 ปีไปบริษัทจะมีการรีไวท์แผนงานใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ธุรกิจโลก
“การขมวดธุรกิจเข้ามายัง FOOD FACTORS รวมถึงการเข้าซื้อกิจการนํ้าส้มวาเลนติน่า ในเยอรมนีเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของบริษัทนั้น ถือเป็นการประกอบร่างของบริษัทที่มีอยู่ เพื่อรุกในส่วนของธุรกิจรีเทลที่บริษัทยังไม่มี โดยใช้ร้านอาหารเป็นหัวหอกหลักในการขยายตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ”
++ชูโมเดลใหม่สู่ตลาดโลก
ขณะที่รูปแบบการบริหารจัดการของ “FOOD FACTORS” จะเป็นรูปแบบของการพัฒนา Network หรือช่องทางการขายให้แข็งแกร่งเสียก่อนที่จะมีพัฒนาสินค้าเพื่อส่งออก โดยจะมีการหาพาร์ตเนอร์ที่หลากหลายในการเข้ามาร่วมธุรกิจ อาจจะเป็นไปได้ทั้งรูปแบบการร่วมทุนหรือการเข้าซื้อกิจการ แล้วแต่ความเหมาะสมในสภาวะนั้นๆ โดยจะเน้นดูแลธุรกิจอาหารทั้งหมดตั้งแต่ต้นนํ้าไปจนถึงปลายนํ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตร เชื่อมต่อช่องทางธุรกิจอาหารสู่ตลาดโลก
โดยรูปแบบการลงทุนเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้เจรจากับผู้ประกอบการในไทย ในจำนวนนี้มีอยู่ 3-4 รายที่อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน ทั้งนี้หลังจากได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนภายในไตรมาส 2 แล้ว เชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างฟูดเน็ตเวิร์กให้กับสินค้ากลุ่มอาหารของบุญรอดให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงแรกของการทำตลาดจะโฟกัสการสร้างเครือข่ายไปที่ยุโรป และเมืองไทยก่อน เนื่องจากมองว่าในยุโรปนั้นมีโอกาสทางการเติบโตสูง ขณะที่จีนนั้นมองว่าแม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่แต่ก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ส่งผลให้โอกาสน้อยไปด้วย และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางนั้นมีข้อจำกัดด้านธุรกิจค่อนข้างมาก โดยในยุโรปนั้นได้เตรียมเจรจาเครือข่ายใน 3 ประเทศหลัก ที่จะใช้เป็นสปริงบอร์ดในการส่งสินค้าไปยัง 10 ประเทศในยุโรปได้และเป็นเน็ตเวิร์กให้บริษัท เบื้องต้นอยู่ระหว่างการเจรจา
ทั้งนี้ในช่วงปีแรกจะให้ความสำคัญกับตลาดไทย โดยวางเป้าว่าจะมีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% ก่อนที่จะเพิ่มเป็นรายได้ต่างประเทศเป็น 80% และในประเทศ 20% ในปี 2563
“ปิติ” บอกอีกว่า ล่าสุดได้ใช้งบลงทุน 25 ล้านบาท เปิดตัวร้าน “อาหาร” (RHAAN) ย่านทองหล่อซอย 9 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจส่วนตัวภายใต้บริษัท วิสดอม 12 จำกัด ในคอนเซ็ปต์ร้านอาหารสไตล์ไทยๆแบบดั้งเดิมบนพื้นที่ กว่า 700 ตร.ม. 88 ที่นั่ง 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนร้านอาหาร โซนไพรเวตรูม และโซนรีเซพชัน เน้นเสิร์ฟอาหารไทยเป็นคอร์ส 18 รายการ ระดับราคาตั้งแต่ 1,212-กว่า 4,000 บาท เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับบีบวกจนถึงระดับเอ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561