สรรพสามิตเก็บ “ภาษีความเค็ม” นำร่องขนมขบเคี้ยว เห็นรูปธรรมปี 68

24 ธ.ค. 2567 | 23:07 น.

สรรพสามิตศึกษาเก็บ “ภาษีความเค็ม” นำร่องขนมขบเคี้ยว เห็นรูปธรรมภายในปี 68 หนุนประชาชนลดโซเดียม พร้อมใช้ภาษีสร้างความยั่งยืน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภายในปี 2568 นี้ กรมสรรพสามิตจะผลักดันการจัดเก็บภาษีโซเดียม หรือ “ภาษีความเค็ม” ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยรูปแบบจะเป็นสัดส่วนอัตราภาษีขั้นบันได เช่นเดียวกันกับภาษีความหวาน ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโดยจะเริ่มเก็บภาษีความเค็มจากขนมขบเคี้ยว ซึ่งไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

ทั้งนี้ กรมจะพิจารณาจากจำนวนเกลือที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมในการปรุงรส อย่างไรก็ตาม กรมจะศึกษาให้ละเอียดและรอบคอบไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการ และมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว

“จากการเก็บภาษีความหวาน 7-8 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าประชาชนบริโภคหวานลดลง ถือว่ากลไกภาษีได้เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งในส่วนของโซเดียมนั้น คนไทยกินโซเดียมสูงกว่าอัตราที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า ฉะนั้น กรมจึงต้องเข้ามาดูว่าจะใช้กลไกภาษีอย่างไร เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค”

นางสาวกุลยา  กล่าวถึงทิศทางขับเคลื่อนกรมสรรพสามิต ว่า กรมยังคงมุ่งเน้นในการดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดการดำเนินงานเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน หรือ Sustainability เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และปรับปรุงการทำงานให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้  

สำหรับด้านนโยบายภาษีจะใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างรายได้และผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น 

ภาษีรถยนต์

จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี EV PHEV HEV และHydrogen ตามนโยบายที่รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ภาษีแบตเตอรี่

จะมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่จำเป็นต้องมีการใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเกณฑ์ตามค่า Energy Density หรือประจุไฟฟ้าต่อน้ำหนัก และ Lifecycle หรือรอบการอัดประจุไฟฟ้า

ภาษีคาร์บอน

จะเป็นการเพิ่มกลไกราคาคาร์บอนภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับราคาคาร์บอน เพื่อสร้างความตระหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยเน้นย้ำว่าการเพิ่มกลไกดังกล่าวจะไม่กระทบต่อภาระภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบโดยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมสุราชุมชนเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีมาตรฐานและแข่งขันได้

ขณะที่ด้านนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดเก็บภาษี อยู่ในระหว่างดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย 

  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้กลไกอัตราตามมูลค่า ซึ่งฐานภาษีสำหรับอัตราตามมูลค่าในปัจจุบัน คือ “ราคาขายปลีกแนะนำ” 
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่สามารถแสกน QR CODE เพื่อตรวจสอบการชำระภาษีผ่านการใช้ E-stamp 
  • การพัฒนาคนให้มีความรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน 
  • การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำงานโดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Digitalization 4 ด้าน ได้แก่ D-Service D-Office D-culture และ D-standard 

“กรมสรรพสามิตเตรียมพร้อมในทุกมิติในการบูรณาการด้านนโยบาย กฎหมาย พัฒนาบุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สอดคล้องและเป็นไปทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนและความสมดุลระหว่างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย”