อนันดาฯ ยันโครงการแอชตัน อโศก บอร์ด รฟม. อนุมัติการขอใช้ทางออกด้านถนนอโศก ปฏิบัติเหมือนกับโครงการอื่นๆอีก 10 ราย เผยกรณีเลื่อนใช้อาคารไป 26 มีนาคม 2562 กระทบยอดโอนไตรมาสแรกปีนี้เพียง 15%
นายพิสิษฐ์ เดชไชยยาศักดิ์ นักกฎหมายธุรกิจ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยืนยันต่อนักลงทุนในกิจกรรม บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) กรณีโครงการ แอชตัน อโศก ก่อสร้างเสร็จสิ้น 100% แต่ยังไม่ได้รับเอกสารรับรองการก่อสร้างและเปิดใช้อาคาร (อ.6) จากกรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่การไม่สามารถส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าที่จองซื้อได้ทันภายในไตรมาส 1 ปี 2560 และขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2562 ว่า
โครงการดังกล่าวก่อนพัฒนาโครงการ บริษัทอนันดาฯได้ตรวจสอบข้อมูลหลายด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างถูกต้องแล้ว และมีหลักฐานยืนยันว่าสามารถเริ่มโครงการได้
ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากมีผู้ไปร้องต่อศาลปกครอง ทั้งในส่วนของกลุ่มสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและคนในชุมชนว่าถนนส่วนหน้าโครงการนั้น ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) น่าจะไม่ได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประเด็นนี้บริษัทฯยืนยันว่า การขอใช้พื้นที่ของ รฟม. เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางเข้าออกของโครงการแอชตัน อโศก เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ การขอใช้พื้นที่ ของ รฟม. ปี 2556 ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกันกับที่หลายโครงการในกทม.มากกว่า 10 แห่ง ที่ทำสัญญากับ รฟม.ในการใช้พื้นที่เช่นกัน
โดยมีหลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าตอบแทนหรือสิ่งตอบแทนที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร คืออาคารจอดรถ มูลค่าประมาณ 97 ล้านบาท แลกกับการใช้ทางตลอดไป โดยมีคณะกรรมการของ รฟม.เป็นผู้อนุมัติ แต่หลังจากเกิดการร้องต่อศาลปกครอง ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในภายหลัง ทำให้เรื่องอยู่ในขั้นตอนที่ศาลปกครองกำลังพิจารณาอีกครั้ง
“ขณะนี้อนันดา ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอคุ้มครอง และขอให้ทางกทม.ออกใบอนุญาตใช้อาคารให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน ถึงแม้จะมีคดี แต่ กทม.ไม่จำเป็นต้องทุเลาการออกใบอนุญาตใช้อาคาร เพราะโครงการนี้ก่อประโยชน์ให้กับชุมชน และรฟม.ได้ลูกค้าเพิ่มที่เป็นผู้พักอาศัยในแอชตัน อโศกด้วย”
นายพิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า หากบริษัทฯชนะก็สามารถเริ่มโอนโครงการได้ในเดือนมิถุนายนนี้ แต่กรณี กทม.ไม่ออกใบอนุญาตให้ อนันดาจะทำเรื่องอุทธรณ์ต่อ โดยศาลปกครองสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งอาจใช้เวลานาน 2-3 ปี ในทางกลับกันหากโครงการ แอชตัน อโศก พ่ายแพ้ และไม่สามารถทำการโอนให้ลูกบ้านได้ ซึ่งทำการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2560 จะเกิดผลกระทบที่ตามมา นอกจากภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย จะไม่ได้รับความไว้ใจต่อนักลงทุนในไทยแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์การลงทุนในไทยต่อนักลงทุนระดับโลก ที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบกฎหมายและระบบราชการไทยที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะโครงการได้รับอนุญาตในการก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนแรก
สำหรับ โครงการแอชตัน อโศก มูลค่า 6.7 พันล้านบาท และมียอดขายแล้ว 98% โดยมีกำหนดการโอนให้ลูกค้าในวันที่ 26 มี.ค.นี้ แต่คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน และจากการกรณีดังกล่าว ยังส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจ และกระทบราคาหุ้น ANAN ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลายวันติด
ด้านนายจอห์น เลสลี่ มิลลาร์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานกลยุทธ์ทางการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ตามแผนธุรกิจปี 2561 ตั้งเป้ารายได้ 3.8 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่ทำได้ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 152% ปีนี้มีโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ 9 โครงการ โดยในไตรมาส 1 มีแอชตัน อโศก และไอดีโอ คิว ชิดลม ไตรมาส 2 มีโครงการแอชตัน จุฬา-สีลม และยูนิโอ รามคำแหง-เสรีไทย และวีนิโอ สุขุมวิท 10 จากนั้นเป็นไตรมาส 4 อีก 4 โครงการมี แอชตัน สีลม, ไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท 66, ไอดีโอ พหลโยธิน จตุจักร และไอดีโอ สุขุมวิท 93
“การที่โครงการแอชตัน อโศก ไม่สามารถเปิดโอนได้ตามกำหนด มีผลกระทบต่อส่วนแบ่งยอดโอนในส่วนของอนันดาฯ ลดลงเพียง 15% เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง โดยในโครงการนี้บริษัทฯถือหุ้น 51% “
กรณีการขยายเวลาใช้อาคารออกไปอีก 1 ปี หรือ 26 มีนาคม 2562 ทางบริษัทฯก็มีข้อเสนอให้กับลูกค้าที่จองซื้อเลือก 3 ข้อคือ 1. ให้ส่วนลด 7.5% ของวงเงินที่จ่ายมาแล้ว หากครบกำหนดขยายเวลาและบริษัทฯไม่สามารถส่งมอบได้ ถ้าลูกค้าจะยกเลิกสัญญา บริษัทฯจะจ่ายให้เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของธนาคารกรุงไทย 2.ถ้าผู้จองซื้อไม่ต้องการถือต่อไป และอยากขายคืน บริษัทฯก็จะจ่ายให้เต็มจำนวน และ3.ถ้าลูกค้าต้องการจะเปลี่ยนจากแอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมโครงการอื่นของอนันดาฯ ทางบริษัทฯก็มีโครงการให้เลือก 5 แห่ง มี แอชตัน จุฬา-สีลม, แอชตัน สีลม, แอชตัน เรสซิเดนซ์ 41, ไอดีโอคิว และคิว ชิดลม