ในยุคที่ตลาดรถหรูสู้กันด้วยโปรดักต์ที่หลากหลายและเล่นสงครามราคาอย่างหนัก ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีมุ่งสู่อนาคตรถพลังไฟฟ้า
"โรลันด์ โฟลเกอร์" ประธานบริหารคนใหม่ ของบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา มีความเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร รวมถึงแผนงานรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดรถหรูเมืองไทย
"ฐานยานยนต์" ร่วมสัมภาษณ์
[caption id="attachment_336424" align="aligncenter" width="503"]
โรลันด์ โฟลเกอร์[/caption]
ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้ อาจจะยังให้ความเห็นอะไรมากไม่ได้ แต่สิ่งที่แน่นอน คือ บริษัทแม่ (เดมเลอร์ เอจี) ให้ความสำคัญกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย มาก เห็นได้จากการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ และการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การขึ้นไลน์ประกอบ
"เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี"
หลังจากผมเข้ามารับตำแหน่ง สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ การ
"ฟัง" ทั้งข้อมูลจากทีมงาน รับฟังเสียงจากเครือข่ายผู้จำหน่าย ความต้องการของผู้บริโภค เหล่านี้คงต้องทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรถหรูเมืองไทยต่อไป
"ในเมืองไทยเรามีต้นทุนที่ดี ทั้งแบรนด์ ทีมงาน และดีลเลอร์ที่แข็งแกร่ง ความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังคงเป็นผู้นำตลาด ซึ่งมันไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ"
นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับธุรกิจเมอร์เซเดส-เบนซ์ มือ 2 มากขึ้น เพราะจะช่วยให้เราขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ต้องการรถสภาพดีในราคาที่สมเหตุสมผล และสามารถเพิ่มยอดขายรถใหม่ป้ายแดง จากการที่ลูกค้าเก่านำรถเข้ามาเทรดอิน
ผู้จำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการ ทั้ง 32 แห่ง อาจจะทำธุรกิจรถมือ 2 อยู่แล้ว แต่ไม่เป็นรูปธรรม ดังนั้น เราต้องการให้ดีลเลอร์มีรถมือ 2 คุณภาพดี ขายด้วยสต๊อกของตนเอง เป้าหมาย คือ เพิ่มโอกาสในการขาย และทำให้ดีลเลอร์มีกำไร
"เราพยายามผลักดันธุรกิจรถมือ 2 อย่างจริงจัง และอยากเปลี่ยนความรู้สึกของคนซื้อรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งรถใหม่และรถมือ 2 แม้เป็นงานที่ไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ"
รถหรูแข่งขันแคมเปญหนัก
เราไม่มีนโยบายเล่นสงครามราคา เพราะ
"รถหรู" หมายถึง คุณไม่จำเป็นต้องลดราคาเพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อ ทั้งนี้ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จของเมอร์เซเดส-เบนซ์ทั้งโลก (ในแง่ยอดขาย) ดังนั้น เราจะไม่ทรยศลูกค้าที่ซื้อรถไปก่อน ด้วยการลดราคาตามมาทีหลัง ซึ่งจะมีผลต่อราคาขายในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม มีบางช่วงที่จำเป็นต้องระบายรถสต๊อกเก่า ก็เป็นเรื่องกลยุทธ์ของแต่ละดีลเลอร์ ที่เราไม่สามารถไปกำหนดกรอบได้
ความพร้อมรถอีวี
ตามนโยบายบริษัทแม่ที่เคยประกาศไว้ว่า เตรียมเปิดตัวรถพลังไฟฟ้า (อีวี) 9 รุ่น ภายในปี 2022 ส่วนการทำตลาดในเมืองไทย ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล ความพร้อมของสถานีชาร์จไฟฟ้าและการบริหารพลังงานไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
ในแง่นโยบาย คงไม่มีใครออกมาบอกว่า จะถอนการทำตลาดรถเครื่องยนต์ดีเซล สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ พยายามหาทางเลือกที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน แน่นอนว่า การวิ่งในเมือง
"อีวี" เหมาะสม แต่การขับทางไกลไปต่างจังหวัด รถปลั๊ก-อินไฮบริด จะตอบสนองการใช้งานได้ดี
"เรื่องรถพลังไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลของประเทศไหนสนับสนุนจริงจัง รถรุ่นนั้นมีโอกาสแจ้งเกิด ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ไม่อยากเสียความเป็นผู้นำ"
หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561