กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนส้มโอเฝ้าระวังการระบาดของแมลงศัตรูพืช 4 ชนิด คือ หนอนชอนใบแมลงค่อมทอง เพลี้ยไฟ และเพลี้ยไก่แจ้ส้ม จะพบในช่วงสภาพอากาศเย็นและแห้งแล้งระยะที่ส้มโอแตกใบอ่อนและออกดอก เกษตรกรควรสังเกตหนอนชอนใบ มักพบหนอนชอนเข้าไปทำลายกัดกินในระหว่างชั้นของผิวใบอ่อน ทำให้เกิดรอยโพรงสีขาว ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง และโรคแคงเกอร์เข้าทำลายซ้ำได้ หากพบให้เกษตรกรตัดแต่งใบอ่อนที่ถูกหนอนทำลายมาเผาไฟทิ้ง และพ่นด้วยสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอไท อะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีโทแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
สำหรับแมลงค่อมทอง จะพบแมลงค่อมทองเข้ากัดกินใบอ่อนและยอดอ่อน ถ้าเข้าทำลายมาก จะกัดกินใบอ่อนจนเหลือแต่ก้านใบ หากพบแมลงค่อมเข้าทำลาย ให้เกษตรกรเขย่าต้นหรือกิ่งเพื่อเก็บตัวแมลงไปทำลายทิ้ง และป้องกันกำจัดโดยพ่นสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังเพลี้ยไฟ โดยจะพบเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ส่งผลให้ใบหงิกงอ ดอกแห้งไม่ติดผล และผลที่ถูกทำลายจะเกิดรอยแผลเป็นสีเทาเงิน แคระแกร็น บิดเบี้ยว เกษตรกรควรตัดแต่งส่วนที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายรุนแรงทิ้ง และหมั่นสำรวจยอดและผลอ่อนโดยเฉพาะช่วงที่อากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง หากพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือเพลี้ยไฟเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้พ่นสารคลอไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะเซททามิพริด 20% เอสพี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ส่วนเพลี้ยไก่แจ้ส้ม จะพบมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน เกษตรกรควรเฝ้าสังเกตส้มโอที่แตกยอดใหม่ มักถูกตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไก่แจ้ส้มดูดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อน อีกทั้งเพลี้ยไก่แจ้ส้มยังเป็นพาหะของโรคกรีนนิ่ง ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจส้มโอในระยะแตกตาและยอดอ่อน หากพบเข้าทำลายรุนแรง ยอดจะหงิกงอและแห้งตายได้ ให้พ่นด้วยสารคลอไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร