แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายอนุเทพ วงศ์วาฤทธิ์ ประธานกรรมการสหกรณ์แม่กลอง พร้อมคณะได้ขอเข้าพบ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือและขอหารือกรณีปัญหาสินค้าสัตว์น้ำราคาตกต่ำ (รัฐมนตรีไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ) นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช) รับเรื่องแทน
โดยขอเสนอแนวทางแก้ไข 2 มาตรการ ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลใช้ระบบสหกรณ์การเกษตรซื้อนำราคาสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อกระตุ้นราคาตลาด เช่นเดียวกับที่เคยกระตุ้นตลาดสินค้ายางพารา และขอให้รัฐบาลพยุงราคา โดยการชดเชยราคาสินค้าสัตว์น้ำ หากราคาสินค้าสัตว์น้ำต่ำกว่าราคาที่กำหนด โดยทั้ง 2 มาตรการนี้ ขอให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเงินและหาแหล่งเงินทุนให้กับสหกรณ์ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ
แหล่งข่าวจากผลการประชุมหารือและกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ เผยว่า สถิติการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ปี 2561 (ม.ค. - ก.ย.) ปริมาณ 1.29 ล้านตัน มูลค่า 7.84 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปรับลดลงเล็กน้อย หากแบ่งแยกเป็นรายชนิดสัตว์น้ำ ปลานำเข้าสูงสุด 1.1 ล้านตัน รองลงมา หมึก จำนวน 1.15 แสนตัน และกุ้ง จำนวน 2.29 หมื่นตัน
สำหรับสัดส่วนการนำเข้าหมึกของประเทศไทย พบว่า เป็นประเทศจีน 34% อินเดีย 13.07% และเมียนมา 12.19% ซึ่งในจำนวนที่นำเข้าจากเมียนมา ประเภทปลาสูงสุด 1.25 แสนตัน รองลงมาเป็นหมึก จำนวน 1.4 หมื่นตัน ส่วนการนำเข้าหมึกจากเมียนมาในจำนวนดังกล่าวที่นำเข้ามาสูงสุด เป็นหมึกกล้วย ปริมาณ 8,826 ตัน รองลงมาหมึกกระดอง 3,396 ตัน และหมึกสายปริมาณ 1,393 ตัน ขณะที่ ผลผลิตสัตว์น้ำของไทย หมึกกล้วย ปริมาณ 56,112 ตัน ส่วนการส่งออกหมึก 9 เดือนแรกของปี 2561 จำนวน 3,648 ตัน ขณะที่ ปีที่แล้วทั้งปี 3,648 ตัน จะเห็นว่า ผลผลิตในประเทศมีมากจริง จึงทำให้ราคาสัตว์น้ำ โดยเฉพาะหมึกราคาตกต่ำ
ขณะที่ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผย ในวันที่ 5 พ.ย. 2561 จะนำสมาชิก 28 คน ร่วมเข้าหารือเกี่ยวกับปัญหาการตีความ การบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ โดยจะมีเรื่องหารือ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ มาตรการด้านสุขอนามัยสัตว์น้ำ มาตรการด้านปกป้องคุ้มครอง อุตสาหกรรมหรืออาชีพคนในประเทศ และ 3.ตั้งกฎเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ให้มีความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต ซึ่งในปัจจุบันสินค้าประมงต่าง ๆ ได้มีการนำเข้ามาตีตลาดภายในประเทศได้อย่างง่ายดาย