รถไฟฟ้าเส้นทาง "ขอนแก่น-แหลมฉบัง" พลิกโฉมการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง

22 พ.ย. 2561 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2561 | 14:11 น.
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด ร.ฟ.ท.) ก็ได้เห็นชอบผลศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุนรถไฟใช้ระบบไฟฟ้าขนส่งสินค้า "ขอนแก่น-แหลมฉบัง" ระยะทางกว่า 516 กม. คาดใช้งบไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าขนสินค้าได้กว่า 3.8 ล้านตัน/ปี โดยหลังจากนี้จะเร่งส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อดำเนินการ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ต่อไป

โครงการนี้วัตถุประสงค์เพื่อประหยัดการลงทุนของภาครัฐ จึงต้องนำเสนอเข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 โดยได้มีการศึกษารองรับไว้หลายรูปแบบ แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) จะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป


p12-เกาะติด3420

รถไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสินค้าเส้นทางขอนแก่น-แหลมฉบัง ถือได้ว่าเป็นอีกโครงการที่เปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยพบว่า กลุ่มบริษัทบีทีเอสฯ และกลุ่มบริษัททีพีไอโพลีนฯ แสดงความสนใจลงทุนโครงการดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประการสำคัญ หากรัฐต้องลงทุนมหาศาล ปัจจุบันนี้ รัฐยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะหลายโครงการที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็จะเกิดไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยการลงทุนจำนวนมหาศาลนั่นเอง

เบื้องต้น บอร์ด ร.ฟ.ท. เห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะลงทุนในส่วนของการจัดสรรที่ดินแนวเส้นทาง เพื่อก่อสร้างอู่จอดและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งลงทุนระบบบริหารจัดการ ขณะที่ ภาคเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในส่วนของงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานอู่จอดและซ่อมบำรุง งานก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และการจัดหาหัวรถจักรไฟฟ้าและรถสินค้า

ในส่วนงบประมาณการลงทุนอ้างอิงตามผลการศึกษา พบว่า มีมูลค่ารวม 19,193 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 17,250 ล้านบาท งานก่อสร้างอู่จอดและซ่อมบำรุง 1,200 ล้านบาท งานจัดซื้อขบวนรถ 735 ล้านบาท และงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 8 ล้านบาท มีอายุสัมปทานอยู่ที่ 30 ปี พร้อมเงื่อนไขในการต่ออายุสัมปทานได้อีก 30 ปี โดย ร.ฟ.ท. จะได้รับผลตอบแทนสุทธิตลอดอายุสัญญาคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท

คงต้องมีลุ้นกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาล คสช. จะให้ความสำคัญต่อการยกระดับการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟฟ้าหรือไม่ ใครจะเป็นผู้สนใจลงทุนกันแน่ และเอกชนต่างประเทศจะให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเปิดให้บริการได้เชื่อว่าจะมีส่วนกระตุ้นวงการโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมาก


หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,419 วันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859