กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แจงยิบขั้นตอนก่อนประกาศใช้ค่าภาคหลวงแร่ใหม่ เผยประชุมตั้งแต่กลางปี60 มีตัวแทนสภาการเหมืองแร่ร่วมรู้เห็นด้วย อ้างดำเนินการตามแผนพัฒนาฯฉบับ12และพ.ร.บ.แร่ ที่บังคับใช้แล้ว
ตามที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่หลายบริษัทได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 เสนอให้พิจารณาทบทวนถึงผลกระทบจากการปรับปรุงการเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่บางชนิด เพื่อการส่งออกจากอัตราร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 7 ของราคาตลาดแร่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่เพราะเป็นการปรับเพิ่มในอัตราสูงและประกาศแบบกระทันหัน โดยไม่มีการหารือล่วงหน้านั้น
นายวิษณุ ทับเที่ยง
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเหมืองแร่ เผยว่า กรณีนี้ได้มีหนังสือชี้แจงจากนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เมื่อกลางเดือนมกราคมว่า ที่ผ่านมา กพร.มีนโยบายในการปรับปรุงพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ เพื่อการส่งออกให้สูงขึ้น เพื่อต้องการให้มีการนำแร่ดิบมาเพิ่มมูลค่าหรือใช้ในประเทศให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า ดังนั้นจึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับแล้ว กพร.จึงร่วมพิจารณากับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมทรัพยากรธรณี และสภาการเหมืองแร่ ถึงการจัดเก็บภาษีเพื่อการส่งออกแร่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 มีมติเห็นว่าพิกัดอัตราค่าภาคหลวงที่ กพร.เสนอนั้นมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“ในการจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2561 ได้มีการเปิดรับความคิดเห็นจากผู้แทนสภาการเหมืองแร่ในการประชุม และรับฟังผ่านเว็บไซต์ของ กพร.แล้ว และไม่มีการโต้แย้งในการกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ได้กำหนดไว้แต่อย่างใด ดังนั้น กพร.จึงเห็นว่าพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2561 จึงมีความเหมาะสมในทุกประการแล้ว และไม่เป็นภาระด้านต้นทุนต่อผู้ประกอบการมากนัก” อธิบดี กพร.กล่าว
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่ให้ความเห็นว่า การรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกพร. ควรจะได้รับข้อมูลเพิ่มจากตัวแทนผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจังหวัด และจากบริษัทระดับขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ของประเภทชนิดแร่แต่ละประเภท อีกทั้งการขึ้นค่าภาคหลวงสูงขึ้นถึง 75% จากอัตราค่าภาคหลวงร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 7 สำหรับการส่งออกแร่ นั้น เห็นว่าน่าจะทบทวนนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการแร่ส่งออก และขอความเห็นจากผู้ประกอบการเพิ่มเติม
ปัจจุบันผู้ประกอบการมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต จากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากต่อเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันสูงขึ้น และการลดราคาจากคู่แข่งขัน เช่น ประเทศโอมาน ประเทศอิหร่าน เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือลดลงมากผลที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะทำให้ขาดรายได้จากเงินตราต่างประเทศด้านการส่งออกซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจก็เป็นได้