นายกโรงสีฯ เต้นผาง! โต้ทันควัน แบนคำสั่งข้าวหอมพวง "ทำลายชาวนา" ซัดรัฐแก้ปัญหาไม่ถูก ชี้! มีกลไกตลาดขับเคลื่อน ปัจจัยเสี่ยงชาวนามีเพียบ ยิ่งไม่ใช่พันธุ์รับรองจากกรมการข้าว เล็ง "ผลผลิตลด-โรครุมเร้า" เลิกปลูกไปเอง
จากกรณีกรมการข้าวได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เลขที่กษ 2606/593 เรื่องขอความร่วมมือประสานแจ้งโรงสีและผู้ประกอบค้าข้าวไม่รับซื้อข้าวหอมพวงในราคาสูง เช่นเดียวกับข้าวหอมปทุมธานี 1 เพื่อลดแรงจูงใจในการปลูกข้าวหอมพวงของชาวนาที่พยายามหาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมพวงมาปลูกโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพการปะปนพันธุ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการยืมมือโรงสีเพื่อไปทำร้ายชาวนา ในขณะที่ สถานการณ์ตอนนี้นั้นแย่อยู่แล้ว ชาวนาควรมีสิทธิ์เลือกพันธุ์ที่เขาจะปลูก เนื่องจากสิ่งที่ชาวนาต้องการ คือ ผลผลิตที่สูง คุ้มต้นทุน ขายได้ราคา มีกำไร เนื่องจากชาวนาหรือเกษตรกรน่าจะได้คำนวณต้นทุนและรายได้แล้ว ว่า ปลูกพันธุ์นี้คุ้มที่สุดในมุมมองของเกษตรกร
ดังนั้น จึงควรรับซื้อตามจริงและหาแหล่งตลาดให้ข้าวสารนี้ระบายออก ส่วนฤดูกาลหน้า ถ้าตลาดผู้บริโภคข้าวสารชนิดนี้ไม่ดีอย่างที่คาด การเพาะปลูกของชาวนาและผลผลิตข้าวเปลือกชนิดนี้ก็จะลดลงไปเอง ตามกลไกของมัน แต่ถ้ากดดันให้โรงสีรับซื้อถูก ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงตลาด อาจทำให้ชาวนาเหล่านี้ขาดทุนได้ จึงไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง การทำดังกล่าวจะทำให้ชาวนาเสียประโยชน์ที่ควรได้รับจากผลผลิตที่ปลูกและกำลังออกมาในขณะนี้ ถือเป็นการทำร้ายชาวนามากเกินไป และไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้าข้าวไม่มีคุณภาพ ไม่มีความต้องการ ในที่สุด ตลาดจะมีกลไกเป็นตัวคัดกรองให้ชาวนาชนิดนี้เลิกปลูกไปเอง
"สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรากฏการณ์นี้อาจกำลังบอกอะไรกับตลาดข้าวขาวของไทยหรือไม่ ว่า ทำไมตลาดข้าวขาว เช่น ข้าว 5% มีความต้องการน้อยกว่าตลาดข้าวหอมพวงหรือไม่ อย่างไร ทำไมราคาถึงไม่ดึงดูดใจให้เกษตรกรปลูก แต่กลับหันมามองตัวอื่นแทน แสดงว่า ข้าวหอมพวงนี้น่าจะกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเองใช่หรือไม่ (กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดขณะนี้ใช่หรือไม่?) ถ้าเป็นเช่นนั้น ต่อให้เราไม่ผลิตและขายข้าวสารชนิดนี้ ก็มีผู้อื่นที่จะเข้ามาขาย เข้ามากินส่วนแบ่งตรงนี้อยู่ดีในที่สุด"
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้อยู่ในตลาดข้าวเข้าใจเรื่องความต้องการของผู้บริโภคและความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวในตลาด มากกว่าการบังคับ หรือ แทรกแซงกดดันตลาด ซึ่งในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยผู้แข่งขันในต่างประเทศ การใช้วิธีดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดผลดีก็เป็นได้