สมาคมชาวนาฯ เตรียมดึงทีดีอาร์ไอ สถาบันคลังสมองฯ ผนึกองค์กรชาวนา- สมาคมข้าว พ่วง ก.เกษตรฯ-พาณิชย์ สังคายนากฎหมายข้าว ฉบับ สนช.ใหม่ เป็น “กฎหมายข้าวและชาวนาไทย” ทำให้ครบห่วงโซ่ นายกฯโรงสี ติงทุกฝ่ายรอรัฐบาลใหม่
ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ข้าว พ.ศ. ....ปิดฉากถอนออกจากวาระการประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ไปเรียบร้อยแล้ว โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าว (สนช.) เจ้าของร่างฯ ได้แถลงเลื่อนการพิจารณาออกไปโดยไม่มีกำหนด ให้เหตุผลว่าได้มีการหารือในกรรมาธิการสภาฯ วิปสภาฯ และกรรมาธิการร่างฯ อย่างรอบคอบแล้ว ไม่อยากให้สังคมเกิดความแตกแยกจึงขอยุติปัญหา ส่วนร่างฯ นี้ยังคงค้างในสภาฯ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมมีแนวความคิดที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... ของ สนช.มาทำให้ครบทุกห่วงโซ่ โดยจะเชิญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันคลังสมองของชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) และองค์กร สมาคมชาวนาทุกกลุ่ม โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าว (หยง) และผู้ส่งออก รวมทั้งหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาร่วมร่างกันใหม่โดยนำต้นฉบับของ สนช.มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ครบทุกห่วงโซ่ ในชื่อใหม่ “พ.ร.บ.ข้าวและชาวนาไทย”
“พ.ร.บ.ข้าวฉบับ สนช.ที่จบลงไปไม่มีผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ แต่เป็นบทเรียนสำคัญต้องรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายในการเสนอร่างที่ต้องมีเรื่องสวัสดิการให้กับพี่น้องเกษตรกร เจ็บป่วยรักษาฟรี บุตรหลานได้เรียนสูง มีเงินออม คล้ายประกันสังคม มีกองทุนกู้ยืม กองทุนเครื่องจักรกล เทคโนโลยี ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ เพื่อทำให้ชาวนาเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ซึ่งทางสมาคมจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเป็นผู้ตีรวน”
นายสุเทพ ยังกล่าวถึง พ.ร.บ. ค้าข้าว พ.ศ. 2489 ถือว่ามีความล้าสมัยแล้ว ดังนั้นจะนำกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าวมารวมไว้ในร่างฉบับใหม่นี้ ต่อไปนี้กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายเดียวที่ครบทุกห่วงโซ่ข้าวครอบคลุมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวจนถึงผู้ส่งออก ในเร็วๆ นี้จะนัดทีดีอาร์ไอ สถาบันคลังสมองของชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกห่วงโซ่หารือในเรื่องนี้
ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบว่ามีความจำเป็นที่จะหยิบยกขึ้นมาหรือไม่ แต่ถ้าคิดว่ามีความจำเป็นและความสำคัญก็เห็นด้วย แต่ควรจะปล่อยเวลาให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน เพราะยังเร็วเกินไป ประเด็นสำคัญคือ ในการหยิบยกร่างขึ้นมาไม่ใช่เฉพาะสมาคมชาว นาฯ ภาคการเมือง หรือองค์กรใดก็แล้วแต่ ควรจะรอรัฐบาลใหม่มาจะดีกว่า
อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... (ฉบับแก้ไข) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุฯด้านการผลิต และอนุฯตลาด ร่างกฎหมายนี้จะครอบคลุมเฉพาะการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ชาวนา และโรงสี) จะไปเชื่อมต่อกับกฎหมายค้าข้าว ที่มีอยู่แล้ว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,449 วันที่ 3-6 มีนาคม 2562