นายกชาวนาฯ ปูดสนั่น! ท้องนาไทยโดนญวนตีพ่ายยับ เสียดินแดนกว่า 1 ล้านไร่ ให้ "ข้าวหอมเวียดนาม" หรือ "จัสมินไรซ์" ชงไอเดียกรมการข้าวแอบรับรองพันธุ์ลับ ๆ เปลี่ยนชื่อใหม่ ขณะด้านอีสานหนักกว่า "พันธุ์ข้าวเหนียว" โผล่ เผย ราคาเมล็ดพันธุ์ถูกกว่าไทย ลำต้นสั้น แข็งแรง ผลผลิตดี อายุสั้น เหมาะกับแล้ง เหตุไทยเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อนบ้านปลูกทดแทน
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สมาคมได้ประเมินพื้นที่ผลิต "ข้าวหอมพวง" หรือ "ข้าวจัสมินไรซ์" หรือ "ข้าวหอมเวียดนาม" ที่ชาวนาไทยนิยมปลูกทั่วประเทศ มีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ เป็นธรรมดาที่ชาวนาต้องปลูกตามตลาด อะไรที่ขายได้ ชาวนาปลูกหมด ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นพันธุ์ที่กรมการข้าวรับรองหรือไม่ ดังนั้น ทางกรมจะต้องหาวิธีใหม่ เพื่อทำให้เป็นข้าวที่ถูกต้อง หากผลชี้ชัดว่า ข้าวนี้ไม่ได้เป็นสายพันธุ์อะไร ของใคร แต่พันธุ์ที่เกิดในไทยก็ควรจะเป็นของไทย แล้วตั้งชื่อใหม่ก็จบแล้ว ทำแบบเงียบก็ได้ ไม่ต้องเป็นข่าวก็ได้
"วันนี้ที่กรมการข้าวบอกว่า มีพันธุ์ข้าวนุ่มจำนวนมาก ทั้งไวแสงและไม่ไวแสง มีเยอะกว่าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ที่ส่งเสริมปลูก จะต้องบอกว่า มีผลิตที่ศูนย์ไหนบ้าง รวมทั้งจุดเด่นจุดด้อยประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาได้รับรู้มีหรือไม่ พูดยาก ที่ผ่านมาไม่รู้เลยว่า กรมการข้าวคิดอย่างไร เนื่องจากตลาดต้องการข้าวนิ่ม แต่เวลาส่งเสริมแปลงใหญ่ให้ปลูก กลับส่งเสริมให้ปลูกข้าวพื้นแข็ง เช่น ข้าว กข41, กข47 และข้าว กข61 เป็นต้น"
ทั้งนี้ ในส่วนข้าวพื้นนุ่มที่กรมการข้าวที่แจ้งออกมา มีกว่า 20 สายพันธุ์ ต้องถามว่า ตอบโจทย์ชาวนาหรือไม่ เช่น ผลผลิตมีโรงสีรับซื้อหรือไม่ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 5 ปี ถึงจะทำส่งออกได้ ทั้งกระบวนการผลิต ส่งออก และผลตอบแทนที่ได้ราคาสูงกว่าข้าวชนิดอื่น แล้วถ้าไม่ส่งเสริมก็ยากที่จะผลิตเพื่อรองรับการส่งออกได้ นี่แหละจึงเป็นเหตุผลและคำตอบที่ทำให้ชาวนาวิ่งหา "ข้าวหอมพวง"
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ทราบหรือไม่ว่า ตอนนี้ชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) นำพันธุ์ข้าวเหนียวเวียดนามมาปลูกแล้ว ที่ จ.นครพนม นำร่อง คาดว่าจะขยายไปทั่ว เนื่องจากเมล็ดข้าวเหนียวพันธุ์ในไทยไม่มีเลย ประกอบกับฝนแล้งยาว อีกทั้งข้าว กข6 อายุยาว เสี่ยงอาจจะตายก่อนเก็บเกี่ยว ส่วนข้าวเหนียวเวียดนามลำต้นสั้น ผลผลิตดี อายุเก็บเกี่ยวสั้น แต่ที่กลัวก็คือ หากปลูกกันมาก เกรงว่าตลาดข้าวเหนียวจะล้น จะทำให้ชาวนาขายได้เสี่ยงราคาต่ำในอนาคต