กรอ.กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 หนุนนิคมฯอุดรธานีเป็นท่าเรือบก โครงการเฟสแรกคืบหน้า 70% พร้อมเปิดให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างโรงงานมิ.ย.นี้ จี้รัฐขอปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนเท่าอีอีซี-เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน วางรางรถไฟเชื่อมถึงพื้นที่โครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มสบายดี) ที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นจากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี คราวประชุมครม.สัญจรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 จังหวัดเพชรบูรณ์ และวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่จังหวัดหนองคาย รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือบก (Inland Container Deport:ICD) ซึ่งผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เคยเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นางจิดาภา มั่นในสัจจธรรม กรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดตั้งตามมติครม.โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน เพื่อสร้างงานให้ชาวอุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง มีพื้นที่ 2,171 ไร่ ได้พัฒนาเฟสแรก 1,300 ไร่ ก้าวหน้ากว่า 70% แล้ว คาดจะเปิดให้นักลงทุนเข้าพื้นที่ก่อสร้างโรงงานได้เดือนมิถุนายนนี้ โดยขณะนี้มีนักลงทุนต่างประเทศหลายรายสนใจลงทุน เพื่อประกอบการทั้งด้านโลจิสติกส์ ซึ่งพื้นที่โครงการมีศักยภาพมาก การแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะจากยางพารา อาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
“นักลงทุนส่วนหนึ่งสอบถามถึงสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่โครงการ ว่าจะได้สิทธิประโยชน์มากน้อยเพียงใด แตกต่างจากพื้นที่ EEC หรือพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน อื่นๆ ที่มีอย่างไร เพราะนิคมฯอุดรธานี อยู่ห่างจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายเพียง 52 กิโลเมตร”
นางจิดาภา กล่าวต่อไปอีกว่า อีกเรื่องคือการก่อสร้างรางรถไฟจากสถานีหนองตะไก้ ระยะทางประมาณ 1.8 กม.ถึงพื้นที่ เพื่อต่อกับรางที่ทางโครงการจะลงทุนวางจากศูนย์กระจายสินค้ามาเชื่อม ซึ่งก็ยังไม่มีความคืบหน้า หากมีระบบรางรองรับจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า สำหรับถนนเลียบทางรถไฟ หรือ Local Road จากบริเวณโครงการถึงตัวเมืองอุดรธานี ที่กรมทางหลวงได้ก่อสร้างไว้แล้ว 1 กิโลเมตร ควรทำต่อให้จบทั้งโครงการระยะทาง 16 กิโลเมตร เพิ่มเส้นทางสัญจรของคนและการขนสินค้ารองรับอนาคต ที่จะเกิดชุมชนขยายตัวรอบโครงการ จะทำให้โครงการท่าเรือบกแห่งนี้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ
ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว เวลานี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยเสร็จเรียบร้อยพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้า การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ขยายเขตเชื่อมต่อระบบนํ้าประปาเข้ามาให้โครงการแล้ว ส่วนนํ้าดิบได้ขุดบ่อในโครงการเพิ่มอีก 3 บ่อ ความจุรวม 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ทางโครงการได้มอบพื้นที่ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ตั้งสำนักงานบริการจุดเดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ สามารถยื่นคำร้องต่างๆ เช่น การขออนุญาตตั้งโรงงานได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวได้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ใบอนุญาตประกอบการ
“ข้อเสนอเหล่านี้ผ่านความเห็นชอบแล้วในการประชุมร่วมกรอ.กับนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมสัญจรทั้งที่เพชรบูรณ์และหนองคาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามเสนอ จึงต้องติดตามความคืบหน้า และทางสภาพัฒน์ก็มีความเห็นว่าควรที่จะให้การสนับสนุนโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนกว่าในปัจจุบันนี้ เนื่องว่าเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก” นางจิดาภา กล่าวยํ้า
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม 2562