สมาคมนมพาสเจอร์ไรซ์เตรียมชง “เฉลิมชัย” ของบนมโรงเรียนเพิ่ม 5,000 ล้าน หวังให้เด็กได้ดื่มนมครบ 365 วัน พ่วงเกษตรกรขายนมได้เพิ่ม 500 ตันต่อวัน จี้ตรวจสอบจำนวนเด็กใหม่ หวั่น “เด็กผี” โผล่ หลัง ผู้ประกอบการโวยขายนมไม่ได้ตามเป้า
โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) (26 มี.ค. 62) งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนที่มี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานได้มีการการจัดสรรสิทธิเรียบร้อยแล้ว โดยในปีการศึกษา 2562 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 65 ราย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยคุ้มครองเด็กและโรงเรียนในกรณีส่งของไม่ตรงตามเวลา คุณภาพนมเสียหาย และให้ออกค่าใช้จ่ายหากเด็กเข้าโรงพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแลทั้งหมด ควบกับการใช้กฎหมายเกษตรพันธสัญญาดูแลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2535
นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ “มิลค์บอร์ด” เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมต้องการให้เด็กได้ดื่มนมเพิ่มขึ้นจาก 260 วัน เป็น 365 วัน(เพิ่มขึ้นอีก 105 วัน) ดังนั้นทางสมาคมฯ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้พิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพิ่มงบประมาณนมโรงเรียนอีก 4,000-5,000 ล้านบาทเพื่อการดังกล่าว ขณะเดียวกันจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายนํ้านมดิบให้กับโครงการได้เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 500 ตันต่อวัน
วสันต์ จีนหลง
“เกษตรกรจะขายนํ้านมดิบได้เพิ่มขึ้น จากเวลานี้รัฐบาลส่งเสริมจนนมล้นตลาดหรือเกินโควตา อุตสาหกรรมนมเชิงพาณิชย์รับได้ไม่หมด หากรัฐบาลเพิ่มงบนมโรงเรียนอีก 4-5 พันล้านบาทจะส่งผลดีต่อเด็กและเกษตรกร”
ปัจจุบันเด็กที่อยู่ในระบบนมโรงเรียนมีกว่า 7.4 ล้านคน งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ใช้จริงอาจจะแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำนวนเด็กต้องเช็กให้แน่นอน เพราะสิ่งที่เห็นก็คือ สิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนที่เอกชนได้รับไปจริงลดลง เรื่อยๆ มีหลายรายบ่นว่าไม่ได้สิทธิตามตัวเลขที่แจ้ง ก็เข้าใจก่อนหน้านั้นมีจำนวนโรงเรียนมาก และก็ไม่มีการตรวจสอบจำนวนเด็กกันจริงๆ อาจทำให้มี “เด็กผี” แต่ว่าการจัดสรรสิทธิยังใช้ตัวเลขเดิมอยู่ ซึ่งจำนวนเงินที่เหลือหากเหลือถึง 1,000 ล้านบาท ก็ใส่เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท
“เวลานี้รัฐบาลจ่ายเบี้ยคนชรา มีบัตรสวัสดิการต่างๆ ดังนั้นหากจะลงทุนเพิ่มงบประมาณใส่ให้กับเด็กได้ดื่มนมครบ 365 วัน จะกลายเป็นกำลังของชาติในอนาคต ขณะที่ปัญหานมโรงเรียนระบบใหม่ก็ยังมี กล่าวคือ องค์ การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้นำนํ้านมดิบมาใช้ซํ้าซ้อนทั้งตลาดนมโรงเรียน และตลาดนมพาณิชย์ที่ขายนมตราวัวแดงกล่องละ 11 บาท แต่มาขายนมโรงเรียนแค่กล่องละ 7 บาท ทำให้รัฐได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ส่งเข้ารัฐน้อยลง ดังนั้นในปีหน้าจำเป็นต้องประกาศเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หน่วยงานของรัฐอาจจะต้องถูกกำกับมากขึ้น
นัยฤทธิ์ จำเล
ด้านนัยฤทธิ์ จำเล ประธานที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยว่า ปัจจุบันตลาดรับซื้อนํ้านมโคอยู่ที่ 3,413.412 ตันต่อวัน แบ่งเป็นตลาดนมโรงเรียน 1,078 ตันต่อวัน ตลาดนมพาณิชย์ 1,253 ตันต่อวัน และส่วนโควตานมผงขาดมันเนย จำนวน 1,082 ตันต่อวัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมาจากกรมปศุสัตว์ แต่ความจริงที่น่าตกใจ คือ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน 1,600 ตัน (รับได้แค่ 1,078 ตันต่อวัน ส่วนเกินหายไปกว่า 500 กว่าตันต่อวันหายไปไหน) ที่สำคัญทางชุมนุมสหกรณ์ฯทั่วประเทศกว่า 50 สหกรณ์ มีมติเห็นชอบ(18 ก.ค.62) ไม่เอาเกษตรพันธสัญญา อยากจะให้ใช้เอ็มโอยูต่อไป เนื่องจากมีความเชื่อมั่นมากกว่าที่ผู้ประกอบการจะไม่ทิ้งนํ้านมดิบเกษตรกร
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562