จับตาบ่าย 2 โมง เครือข่ายสภาองค์กร์ชุมชนฯ บุกเกษตรฯ นำทัพยื่นเรื่องแก้ปัญหา 3 ปมร้อน “ประมง ยางพารา ข้าว” อย่าปล่อยวิกฤติเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว “สุนทร” ลั่น ชาวสวนยางฝันการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการยาง อุ้มคนไร้เอกสารสิทธิ์ให้เข้าถึงโครงการรัฐ หนุนแปรรูป อัดฉีดจูงใจโค่นยางเพิ่ม 1 หมื่นบาท
วันนี้ 22 ก.ค.2562 นายสุนทร รักษ์รงค์ อดีตคณะกรรมการดำเนินการ และคณะติดตามนโยบาย ตามกติกาในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติ เผยว่า วันนี้จะดาวกระจายไป 5 กระทรวงหลัก ส่งตัวแทนเพื่อยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มต้นในเวลา 11.00 น..ที่กระทรวงพลังงาน และไปพรรคพลังประชารัฐ เพื่อช่วยเหลือต่างๆ 6 เรื่อง ตั้งแต่รถไฟรางคู่ อุตสาหกรรมอ้อย ไฟฟ้าชีวมวล อีอีซี การกระจายอำนาจและภัยพิบัติ ส่วนเวลา 13.00 น. จะไปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะยื่นเรื่องเพื่อให้ช่วยเหลือ สังคมสูงวัย และ เศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น เวลา 14.00 น.ไปกระทรวงแกษตรและสหกรณ์ จะเป็นเรื่องปัญหาประมง ยางพารา และข้าว ปิดท้ายเวลา 15.00 น.จะเดินทางไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องดิน ป่าไม้และน้ำ
“สำหรับในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหายางพารา ตามมติที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติ มีทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. ให้การยางแห่งแห่งประเทศไทย (กยท.)ใช้กลไกตามมาตรา 49 ( 5) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง แบบสมัครใจจ่ายสมทบลักษณะสังคมสวัสดิการ
2. ให้กยท. แก้ไขระเบียบว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 300,000 ราย สามารถขึ้นทะเบียนได้ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยคำแนะนำของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
3. ให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมการทำสวนยางยั่งยืนโดยสนับสนุนเงินปลูกแทนเพิ่มเติมอีกไร่ละ 10,000 บาท เมื่อเกษตรกรชาวสวนยางขอรับการปลูกแทนตามมาตรา 49 ( 2 )แบบผสมผสาน ( เมนู 5 ) 4. ให้รัฐบาลแก้ปัญหาสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 300,000 ราย พื้นที่ 5 ล้านไร่ โดยใช้กลไกสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอโฉนดชุมชน และ ใช้ยุทธศาสตร์ “สวนยางยั่งยืน” เป็นเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ 5 ล้านไร่
5. ให้รัฐจัดทำแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ยางพารา ว่าด้วยการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อสุขภาวะชาวสวนยางที่ดี 6. ให้การยางแห่งประเทศไทยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทจำกัด เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ตามมาตรา 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา 7. ให้รัฐบาลเร่งขยายตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราใหม่ๆในต่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน
8. ให้รัฐบาลจัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของโลก 9. ให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง แปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ การรวบรวมผลผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์จากสวนยางยั่งยืน เพื่อสร้างนักประกอบการทางสังคมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และ 10. ให้รัฐบาลเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้ถึง 25 % ภายใน 1 ปี ด้วยการทำถนนพาราซอล์ยซีเมนต์