มหากาพย์ทุจริตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน 7 ปี อคส.ยังปิดบัญชีไม่ลง ประเมินค่าเสียหาย 1.7 พันล้าน ยังไม่นับเสียค่าจ้างทนายเอาผิดจำนำข้าวอีกกว่า 240 คดี จ่ายไปกว่า 500 ล้าน บิ๊กสำนักกฎหมายโดนหางเลขถูกเด้ง หลังฝืนคำสั่งไม่ยึดคํ้าประกันโรงสี
จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เปิดประเด็นเป็นสื่อแรก ถึงความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยทำเป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัดช่วยลดค่าครองชีพ (ขนาด 5 กก.ขายราคา 70 บาท) ผ่านช่องทางร้านถูกใจ โครงการธงฟ้า และร้านค้าทั่วไป พาดหัวข่าวในฉบับที่ 2,829 วันที่ 24-27 มีนาคม 2556 “พิรุธระบายข้าว 1.8 ล้านตันเอื้อ 3 บริษัท” โดยมีการอนุมัติการระบายผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่จัดหาผู้ประกอบการรับจ้างปรับปรุงและผลิตข้าวถุงจำนวน 6 ครั้ง ปริมาณรวม 2.5 ล้านตัน (ก.พ.54-ธ.ค.55)
ทั้งนี้หากนำข้าวมาบรรจุถุงจะได้มากถึง 500 ล้านถุง กระทั่งพล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 และข้าวนาปรังปี 2555 ในคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา(ในสมัยนั้น) ได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบพบมีมูล และได้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป เวลาผ่านมา 7 ปีเป็นอย่างไรบ้างนั้น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การคลังสินค้า (อคส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากข้อกล่าวหาทุจริตตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาเป็นจริงอย่างที่ว่าหรือไม่ เพราะปัญหายังมีอีกมากยกตัวอย่าง บริษัทรับจ้างทำข้าวถุงรับข้าวจากหัวหน้าคลังไป 100 กิโลกรัม และมีตัวเลขทำข้าวถุง 20 ถุง ส่งมอบให้หัวหน้าคลัง 20 ถุง นำไปให้ตัวแทนจัดจำหน่าย ตัวแทนจำหน่ายก็มารับไป 20 ถุง แต่ 20 ถุงหายไปไหนก็ไม่ทราบ ชาวบ้าน ร้านค้า ไม่เคยเห็น กรรมาธิการในยุคนั้นก็ไปตรวจในพื้นที่ก็ไม่เคยเห็นข้าวถุงราคาถูก อยู่ในร้านถูกใจเลย เป็นประเด็นมาจนถึงทุกวันนี้ คิดเป็นความเสียหายกว่า 1,700 ล้านบาท
“มติของบอร์ด อคส.ก็บอกว่าถ้าสมมติว่าไม่ได้ทำข้าวถุงจริงก็ดำเนินคดีไป แต่ถ้าทำข้าวถุงจริง ค่าใช้จ่ายตรงนี้เมื่อก่อนรัฐบาลไม่มีเงินก็ใช้วิธีให้เอกชนหักเงินจากค่าข้าว ปัญหาก็คือ ณ วันนี้มีปัญหาข้าวบางส่วนที่จะต้องสต๊อกเก็บไว้ไปจ่ายเป็นค่าข้าว ถ้ากรณีถูกต้องก็ต้องมอบเป็นข้าว เป็นค่าจ้างปรับปรุง แต่ถ้าไม่ถูกต้องเราก็ต้องดำเนินคดี แต่สะดุดตรงที่ว่า มีการทำข้าวถุงจริงหรือไม่ มีการตั้งคณะกรรมการมาหลายชุด แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ได้ทำจริง ข้าวตรงนี้เลยค้างอยู่กลายเป็นปัญหาทุกวันนี้”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผลประกอบการของ อคส.ในปี 2556 และ 2557 ที่ได้กำไรได้ถูกระงับ ไม่มีการจ่ายโบนัสพนักงาน บัญชีตรงนี้เป็นผลพวงถึงปัจจุบัน อคส.ก็ยังปิดบัญชีไม่ได้ ยังเป็นสต๊อกที่ยังค้างอยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามจากข้าวที่ อคส.กันไว้ 6 แสนตัน (เพื่อไว้ค่าจ้างโรงสีที่รับจ้างผลิตข้าวถุง จากข้าวที่ประมูลไปแล้วถูกผู้ประมูลตีกลับจากไม่ได้คุณภาพตามที่ตกลงกัน และข้าวที่ผู้ประกอบการให้จ่ายค่าเช่าคลังก่อน) เวลานี้เหลือราว 2 แสนตันที่จะต้องระบาย เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวกลุ่มที่ 1 ยังมีคุณภาพเพื่อบริโภค กลุ่มที่ 2. ข้าวคุณภาพที่เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และกลุ่มที่ 3 ข้าวเสื่อมคุณภาพที่จะระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคนและสัตว์ (อุตสาหกรรมพลังงาน)
ขณะเดียวกัน จากที่ อคส.ได้ดำเนินการฟ้องโรงสีและเจ้าของคลังกว่า 240 คดีที่เป็นคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าวและส่อมีการทุจริต โดยอคส. ต้องจ่ายค่าจ้างทนายไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย(กว่า 6 แสนล้านบาท) เบื้องต้นมีคำสั่งให้ยึดเงินคํ้าประกัน 5% แต่ทางนายรุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักงานกฎหมายและคดี ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ อคส. ในขณะนั้นกลับมีคำสั่งขอชะลอการเรียกร้องให้ธนาคารชำระเงินตามภาระคํ้าประกัน (โรงสีที่ติดคดีรับจำนำข้าว) ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาของศาลว่า คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับ อคส. หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข อคส.จึงจะมีหนังสือเรียกร้องให้ธนาคารชำระเงินตามภาระคํ้าประกันต่อไปนั้น โดยนายรุ่งโรจน์อ้างเหตุผลเกรงโรงสีจะขาดสภาพคล่องไม่มีเงินซื้อข้าว กระทบคู่ค้า และกระทบกับชาวนา ซึ่งจากการไม่สนองนโยบายรัฐมีผลให้รุ่งโรจน์โดนย้ายจากสำนักกฎหมายมาอยู่สำนักบริหารกลาง
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,492 วันที่ 1-3 สิงหาคม 2562