ATM TEA BAR สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย

06 ส.ค. 2562 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 11:44 น.

ความชื่นชอบ  หรือความหลงใหล (Passion) เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเป็นแรงผลักดันสำหรับการสร้างธุรกิจ  โดยจะทำให้เกิดความพยายามในการเข้าไปศึกษาหาความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร  รวมถึงมีใครอยู่ในธุรกิจบ้าง ไม่ใช่เป็นการทำตามกระแส เพราะอาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาด  เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดที่เล็กน้อย  ซึ่งส่งผลทำให้การขยายธุรกิจต่อไปทำได้ยากลำบาก  ดังนั้นการจะสร้างธุรกิจเป็นของตนเองจะต้องคิดให้รอบด้าน  

2 เสียงประสานที่บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จาก “ธนวัฒน์  ทองเจริญเกียรติ” และ “ณิชา  วงษ์หล่อกุลสัก” หุ้นส่วนทางธุรกิจ  เจ้าของแบรนด์ “ATM Tea bar” ชานมไข่มุกแบรนด์ไทยที่สร้างความแตกต่างในตลาดอย่างมีสไตล์  จนกลายเป็นกระแสฮอตฮิตบนโลกอินเตอร์เน็ต และเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  จากการเปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์เมื่อปลายปี 2560 โดยมียอดขายก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วกว่า 1 พันแก้วต่อวัน ซึ่งปัจจุบันได้ขยายสาขาเพิ่มเป็น 7 สาขาในกรุงเทพมหานคร

ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย

 

จากความชอบสู่ธุรกิจ

ธนวัฒน์ บอกว่า จุดเริ่มต้นของไอเดียในการสร้างธุรกิจมาจากความชื่นชอบรสชาติของชานม  โดยหากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน  ธุรกิจชานม ยังมีไม่มาก หรือบูมเท่าปัจจุบัน ซึ่งจากประสบการณ์ของตนและแฟนที่ได้มีโอกาสไปศึกษาที่ต่างประเทศ  ทำให้ได้พบเห็นแนวคิดที่หลากหลาย โดยเรา 2 คนมีความคิดที่ต้องการนำเสนอชานมไข่มุกมุมมองที่แตกต่างออกไปให้ผู้บริโภคคนไทยได้ลองรับประทาน ซึ่งแบรนด์เลือกที่จะไม่ใช้ครีมเทียมเป็นส่วนผสม และคัดสรรวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติแบบ 100% ไม่ว่าจะเป็นนมสด  หรือชามาเสิร์ฟสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ   

อย่างไรก็ดี คุณภาพของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มเติมความน่าสนใจเข้าไป โดยนำประสบการณ์จากการสั่งออร์เดอร์ ซึ่งบางครั้งจะมีความขวยเขินจากความไม่รู้มาต่อยอดสร้างเป็นเครื่องสั่งออร์เดอร์ในรูปแบบคล้ายกับตู้เอทีเอ็ม ซึ่งผสมผสานมาจากชื่อเต็มของร้าน “A Tea Moment” ให้กลายเป็นตัวย่อ เพื่อช่วยให้ร้านมีเอกลักษณ์

ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย

ณิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่ธุรกิจชานมเป็นธุรกิจที่ผู้ให้บริการจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำไลฟ์สไตล์มาผสมผสานเท่าใดนัก  จะมองเพียงแค่เป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคมาซื้อแล้วจากไป  แต่จากการที่เรา 2 คนชอบการนั่งดื่มดํ่ากับบรรยากาศของร้านในรูปแบบคาเฟ่  จึงต้องการนำสิ่งเหล่านั้นมารวมกับร้านชานมให้กลายเป็นร้านที่ดูไม่ธรรมดา  เสมือนเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคได้บอกต่อกันไป  

“ต้องไม่ลืมว่ายุคสมัยใหม่คนชอบถ่ายรูป และแชร์ออกไปให้ผู้อื่นได้รับรู้ เนื่องจากโลกของโซเชียลมีเดียได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน  ดังนั้น แบรนด์จึงต้องการให้การมาซื้อชาเป็นมากกว่าแค่การซื้อชาเพียงแก้วเดียว  จะต้องได้อะไรกลับไปมากกว่านั้น ทั้งเรื่องของคุณภาพ  ความสนุก  ความสุขจากการแชร์รูปภาพ  และการสั่งออร์เดอร์ที่ไม่เหมือนที่อื่น”

ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย

 

เน้นการจดจำแบรนด์

ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากเอกลักษณ์ของตู้เอทีเอ็มแล้ว  แบรนด์ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของภาพจำ โดยจะเห็นได้จากโลโก ของร้านที่แบรนด์เลือกสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคเห็นแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นร้าน ATM Tea bar เช่น รูปสามเหลี่ยมแทนตัวเอ รูปแก้วแทนตัวที  รูปใบชาแทนตัวเอ็ม  และรูปลูกโป่งแทนไข่มุก เพราะหากให้จำแค่ตู้เอทีเอ็มก็จะดูธรรมดาเกินไป ร้านจึงเพิ่มลูกเล่นให้สามารถจดจำได้หลายมุม เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป 

“การตลาดสมัยใหม่จะเน้นเรื่องโซเชียลมากหน่อย เพราะกลุ่มลูกค้าอยู่ในนั้น คนใช้เวลาในโซเชียลค่อนข้างสูง  ทำให้การทำตลาดง่ายมากขึ้นในการสื่อสารถึงลูกค้า เราจึงนำช่องทางดังกล่าวนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แม้ว่าธุรกิจของเราจะไม่ใช่ธุรกิจออนไลน์ แต่ก็สามารถสร้างการรับรู้ได้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของร้าน ทั้งการเปิดสาขาใหม่ หรือการมีเมนูใหม่ให้ลิ้มลอง”

ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย

ณิชา กล่าวว่า ด้วยความที่ตนจบการศึกษาทางด้านแฟชั่น  จึงได้มีการปรับประยุกต์ไอเดียสร้างสรรค์ลงไปในเครื่องดื่ม  โดยเป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอเครื่องดื่มที่มีสีสันสวยงาม  ซึ่งฉีกแนวจากชานมไข่มุกทั่วไป  อีกทั้งยังมีการนำเสนอเมนูใหม่ที่ไม่มีผู้ใดทำมาก่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำมันม่วงมาทำเป็นเครื่องดื่ม  โดยถือว่าเป็นที่แรกของโลก  อีกทั้งยังมีการนำชามัทฉะมาผสมผสานเข้ากับสตรอเบอร์รี่  ซึ่งเมื่อรับประทานจะรู้สึกเหมือนขนม  เป็นต้น โดยเน้นเครื่องดื่มที่ไม่หนักจนเกินไป ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเบาสบายดื่มได้เรื่อยๆ จะไม่เน้นการนำทุกอย่างใส่ลงไปในเมนูให้ดูแน่นเกินไป

“เมนูที่เป็นโปสเตอร์ของร้านจะเป็นเหมือนการรวมเอาแฟชั่นเข้ามาใส่ในเครื่องดื่มให้ดูมีความแตกต่าง  รวมถึงน่าสนใจ  และดูทันสมัย  เราจะมีการพัฒนาเครื่องดื่มออกมานำเสนออย่างต่อเนื่อง  ให้ลูกค้าได้ลองรับประทานเป็นซีซัน”

ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย

 

สร้างองค์กรยั่งยืน

ธนวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า เป้าหมายของร้านจะไม่ได้มุ่งเน้นการมองเปอร์เซ็นต์ในการเติบโต แต่จะมองเรื่องของการขยายธุรกิจมากกว่าว่า ในแต่ละปีจะดำเนินการอย่างไร ปีนี้จะขยายไปต่างจังหวัดเท่าไหร่ และปีหน้าจะขยายไปต่างประเทศที่ไหนบ้าง  โดยจะมองเป็นเป้าหมายในระยะยาวมากกว่า เพื่อการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร  ซึ่งร้าน ATM Tea bar ไม่ได้ต้องการเป็นแบรนด์ตลาดทั่วไป (Mass) แต่ต้องการให้ร้านดูมีเอกลักษณ์ที่ผู้บริโภคจะต้องมาใช้บริการ  ให้ลูกค้ามีช่วงเวลาดีๆในการดื่มชา ถือเครื่องดื่มของร้านแล้วมีความภูมิใจ ไม่ทำลายสุขภาพ

ณิชา กล่าวปิดท้ายว่า จุดเด่นของร้านนอกจากการมีตู้แบบเอทีเอ็มเพื่อสั่งออร์เดอร์แล้ว ยังอยู่ที่การเลือกวัตถุดิบที่ดีเกรดพรีเมี่ยม แบบออร์แกนิกมาชงเป็นเครื่องดื่มแบบแก้วต่อแก้ว ไม่ว่าจะเป็นนมฮอกไกโดนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีความหอม หวาน มัน และใบชาคุณภาพสูงจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่รับประทานจะรับรู้ได้ถึงความแตกต่าง เป็นต้น โดยมีเมนูให้ลูกค้าได้เลือกอย่างหลากหลาย  สำหรับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปไปจนถึงระดับสูง 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3493 วันที่  4-7 สิงหาคม 2562

ATM TEA BAR  สร้างจุดขายด้วย ไอเดีย