1.4 ล้านรายเฮ กยท.แจกประกันสวนยาง ตาย พิการจ่าย 5 แสน เผย ‘ไทยไพบูลย์ ประกันภัย’ คว้าดีลเป็นปีที่ 2 “ณกรณ์” ระบุปีนี้จ่ายเพิ่มคนละ 158 บาท หลังปีที่แล้วบริษัทประกันจ่ายค่าเคลมกว่า 250 ล้าน คุ้มครองแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้คัดเลือกบริษัทประกันภัย เพื่อจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการของเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ภายในวันที่ 15 ก.ค.2562 ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 1.4 แสนราย กำหนดการยื่นซองเอกสาร และเปิดซอง ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ที่ผ่านมา
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิต เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ยื่นซองเสนอราคามีบริษัทเข้ามายื่น 6 ราย แต่ผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดก็คือ บริษัท ไทยไพบูลย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกตามเงื่อนไขที่กำหนดโดย กยท. นับว่าเป็นปีที่ 2 จะให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกรชาวสวนยางเกษตรชาวสวนยางของ กยท. ที่ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 โดยให้ความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือบาดเจ็บอันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุปัจจัยภายนอกร่างกายส่งผลทำให้เสียชีวิตสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิงและให้ความคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งบัตรเขียวและบัตรสีชมพู
“เป็นไปตามระเบียบการจัดสรรงบประมาณ 49 (5) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จำนวน 1.4 ล้านราย มีการคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือบาดเจ็บอันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอกร่างกาย และมีผลทำให้เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิง บริษัทประกันจะจ่าย 5 แสนบาท หรือกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งขับขี่ หรือโดยสารรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จะจ่าย 2.5 แสนบาท และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 3 หมื่นบาท
สำหรับการคุ้มครองช่วงอายุ 1. เกษตรกรชาวสวนยาง อายุน้อยกว่า 40 ปี จำนวน 2.46 แสนราย 2. อายุระหว่าง 41-60 ปี จำนวน 7.38 แสนราย และ 3. อายุมากกว่า 61-70 ปี จำนวน 2.65 แสนราย และอายุมากกว่า 70 ปี จำนวน 1.82 แสนราย ให้ความคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับความสูญเสียหรือบาดเจ็บอันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอกร่างกาย และมีผลทำให้เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิง ระยะเวลาประกันภัย 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เวลา 16.30 น.ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2563 เวลา 16.30 น.
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ปีนี้ของเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันเพิ่มจากปีที่แล้ว คนละ 158 บาท รวมแล้ว 226 ล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วจ่ายอยู่ที่คนละ 85 บาท ประมาณ 123 ล้านบาท/ปี แต่สมาชิกชาวสวนมีการเคลมประกันกว่า 250 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้ทางบริษัทเก็บค่าเบี้ยประกันเพิ่ม นี่สมมติฐานเอาเอง เนื่องจากปีแรกไม่มีฐานในการเคลม แต่ปีนี้มีฐานคิดคำนวณแล้ว
“ในส่วนนี้ ทางการยางฯ ก็พยายามโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ราคายางไม่ค่อยจะดีนัก มาตรการต่างๆ ที่ทำในเรื่องของการช่วยเหลือการสนับสนุนความเป็นอยู่ของสถาบันเกษตรกรทางการยางฯ ได้พยายามนำเงินจากกองทุนพัฒนายางที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดในทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องสวัสดิการและเรื่องการประกันภัย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองว่าสร้างความมั่นคงให้กับชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกร”