บทสัมภาษณ์พิเศษ
ใกล้จะถึงจุดจบ! ข้าวถุงล่องหนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นสื่อแรกที่ได้นำเสนอถึงความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล โดยจัดทำเป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัดช่วยลดค่าครองชีพ (ขนาด 5 กก.ขายราคา 70 บาท) ผ่านช่องทางร้านถูกใจ โครงการธงฟ้า และร้านค้าทั่วไป ซึ่งล่าสุดมาเกี่ยวโยงกับข้าวที่เหลือ 8.3 หมื่นตันได้อย่างไร ทำไม 100 สายตรวจชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณ คุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ไม่ได้นำไปจัดเกรด
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ผู้จัดการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า(อคส.) และ ว่าที่รักษาการผู้อำนวยการ อคส. ต่อจากนายไพศาล เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ ที่จะเกษียณอายุในปีนี้ โดยพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ได้เปิดใจแบบหมดเปลือกว่าข้าวที่เหลือในและนอกคลังกลางที่ยังไม่ได้จัดเกรด จำนวน 8.3 หมื่นตันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
เป็นข้าวในบัญชีไม่ใช่ “ข้าวผี”
พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ระบุว่า ข้าวจำนวน 8.3 หมื่นตัน เป็นข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นข้าวที่คณะกรรมการตรวจสอบฯได้เปิดคลังออกมาแล้วเข้าไปตรวจไม่ได้ เพราะเป็นข้าวกองล้ม ซึ่งในขณะนั้นทีม ม.ล.ปนัดดา เข้าไปตรวจ ก็มีรายชื่อคลังให้ แต่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะบางคลังแค่เปิดประตู กองข้าวก็ล้มลงมา จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยงชีวิตเพราะอันตราย
“แต่กรณีของคลังกิจเจริญทรัพย์ ลพบุรี หลัง 1/1 (ที่เป็นหนึ่งในคลังเก็บข้าวปริศนา 8.3 หมื่นตัน) วันนั้น ม.ล.ปนัดดาไปตรวจมีข้าวทั้งหมด 10 กอง แต่พออีกวันถัดมา หจก.โชควรลักษณ์ฯ ผู้รับจ้างปรับปรุงข้าวถุง ถูกคำสั่งให้คืนข้าว ทางผู้ประกอบการก็นำข้าวมาคืน จึงไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ ก็เลยกลายเป็นข้าวที่ยังไม่ได้จัดเกรด ยืนยันว่าไม่ใช่ข้าวผี หรือข้าวนอกบัญชี แต่เป็นข้าวในบัญชี”
ตีกลับจาก 6 รายผลิตข้าวถุง
พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ เผยอีกว่า ในข้อเท็จจริงข้าว 8.3 หมื่นตันเป็นข้าวจากโครงการข้าวถุงที่ถูกตีกลับจาก 6 ผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิต ได้แก่ 1. จากบริษัท เจียเม้ง จำกัด (บจก.) 2. บจก.นครหลวงค้าข้าว 3. บจก.เอเซียโกลเด้น ไรซ์ 4. บจก.พงษ์ลาภ 5. บจก.สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น และ 6.หจก.โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ซึ่งความจริงในตอนแรกทำสัญญาผู้ประกอบการข้าวถุงมี 7 ราย (มีนครสวรรค์ค้าข้าวอีกราย แต่ทำสัญญาแค่ 1 เดือน ไม่มีความสามารถในการผลิตข้าวถุงตามเป้าที่สัญญาได้) พอเหลือ 6 ราย มีปัญหาอยู่ในตอนนี้คืนข้าวครบแล้ว 3 รายและยังคืนข้าวไม่ครบ 3 ราย
“ส่วนจำนวนข้าวที่ประเมินค่าเสียหาย (จากโครงการข้าวถุง) 1,770 ล้านบาท คือยอดหนี้ที่ฝ่ายบัญชีตีไว้ ยกตัวอย่างมีข้าว 1 แสนตัน ตีค่าจ้าง 2 แสนตัน ผลิตเป็นข้าวถุงออกมา พอขายแล้วจะต้องได้เงินเท่านี้ มา บวกที่จ่ายเป็นค่าจ้าง สมมติลงทุนไป 100 บาท ขายไปแล้วต้องได้ 120 บาท แต่จริงๆ แล้วถ้าเคลียร์คดีจบแล้ว เขาคืนข้าวให้เรา เราจ่ายค่าจ้างเป็นข้าว ตัวเลขบัญชีจะลงตัวพอดีก็คือ 1,770 ล้านบาท”
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ยังไม่แล้วเสร็จเพราะ 3 รายที่คืนข้าวครบ อคส.ยังไม่ได้คืนคํ้าประกันให้ ต้องไปตรวจว่าในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเป็นข้าวถุงจริงหรือไม่ ณ วันนี้จะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดเข้าไปตรวจ กลายเป็นว่า อคส.อยู่ตรงกลางไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ถ้าไม่ฟ้องคดีจะขาดอายุความ แต่ถ้าฟ้องแล้วมีหลักฐานเท่านี้ก็อยู่ที่ศาลเป็นคนตัดสิน กล่าวคือ ฟ้องไปเท่าที่มีหลักฐานอยู่
“ข้าว 8.3 หมื่นตันนี้ นบข.ชุดเดิมได้มอบหมายให้ อคส.ทำการระบายแทนกรมการค้าต่างประเทศ ขั้นตอนคือ ถ้าอนุมัติขายแล้วต้องเสนอคณะอนุฯระบาย คือ คุณไพศาล เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ รักษาการ ผอ.อคส. คาดจะประกาศขายข้าวล็อตนี้ได้ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งรูปแบบจะทำทุกขั้นตอนที่ นบข.ได้วางกรอบไว้”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562