หลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ตลาดสุขภาพและความงามในไทยหยุดชะงักเนื่องจากผู้คนแต่งหน้าน้อยลง เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ นักช้อปวัยใส วัยทำงานกลับมาใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล ดันให้ตลาดฟื้นตัวและเติบโตอย่างแรง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีมูลค่าตลาดแตะระดับ 2.58 แสนล้านบาท ขับเคลื่อนโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์, แฮร์แคร์ และออรัลแคร์ หรือผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ขณะที่กลุ่มน้ำหอม อาจเติบโตช้าลงเล็กน้อย
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดสุขภาพและความงามไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คือ การขยายตัวของ “เฮลท์แอนด์บิวตี้ สโตร์” หรือ “มัลติแบรนด์ สโตร์” หรือร้านที่รวบรวมแบรนด์เครื่องสำอาง สกินแคร์ น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ความงามอื่น ๆ มาไว้ในที่เดียว ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
นอกจากนี้ เทรนด์การดูแลสุขภาพและความงามที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการตื่นตัวเรื่องความสวยความงามของผู้ชาย ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดเติบโต โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2570 ตลาดสุขภาพและความงามทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงราว 580 พันล้านดอลลาร์ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามที่ยังคงสดใสต่อไป
“ฐานเศรษฐกิจ” มัดรวมบิ๊กมูฟของบิ๊กเนมในตลาด “เฮลท์แอนด์บิวตี้ สโตร์” ที่เป็นขุมกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดมาไว้รวมกัน
“วัตสัน” ถือเป็นแบรนด์ผู้นำร้านสุขภาพและความงามในประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่มีสาขามากกว่า 700 สาขา และยังเดินหน้าเสริมบริการต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์การชอปปิ้งออฟไลน์และออนไลน์ (O+O) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของลูกค้า รวมถึงการต่อยอดให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์ “วัตสัน” ปัจจุบัน “วัตสัน ประเทศไทย” เป็นร้านเพื่อสุขภาพและความงามแห่งแรกที่เปิดสาขาครอบคลุม 77 จังหวัด และยังคงเดินหน้าขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น
เน้นการขยายการเติบโต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านความยั่งยืน และในฐานะร้านเพื่อสุขภาพและความงามแห่งแรกที่มีสาขาครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย วัตสันยังคงเดินหน้าขยายตามแผนงาน เพื่อสร้างการเข้าถึงที่ง่าย และสะดวกสบายให้กับลูกค้า ตอบรับความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศ
ล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา “เอเอส วัตสัน กรุ๊ป” บริษัทยังได้จัดงานฉลองเปิดสาขาที่ 8,000 ของวัตสันในเอเชียด้วย พร้อมกันนี้ยังประกาศแผนลงทุนด้วยการทุ่มงบกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเปิดและปรับปรุงร้านค้า 6,000 สาขาในระยะเวลา 2 ปี เพื่อร่วมยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งหน้าร้านสำหรับลูกค้าในเอเชีย เพื่อปรับปรุงและเปิดสาขาใหม่กว่า 1,200 สาขาในเอเชีย อีกทั้งช่วงปี 2566 - 2567 ได้เปิดร้านใหม่มากกว่า 1,200 สาขา รวมถึงมีการลงทุนปรับปรุงร้านค้าจำนวน 4,800 สาขา ส่งผลให้ 75% ของร้านค้าในเอเชียนำเสนอ ประสบการณ์การช้อปปิ้งและเป็นนวัตกรรมแก่ลูกค้าโดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่สนใจในเรื่องความงามยุคใหม่
ด้าน “อีฟแอนด์บอย” ในฐานะแบรนด์ไทยที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ก็ไม่น้อยหน้า เป็นโมเดลร้านเฮลท์แอนด์บิวตี้ สโตร์ ที่วางหมากด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองมีสาขาแรกอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม และสาขาที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่น แต่จุดเริ่มต้นของความนิยมอยู่ที่การเปิดร้านที่สยามสแควร์ในปี 2555 ทำให้ธุรกิจเติบโตถึงขีดสุด ล่าสุดชูกลยุทธ์ Award MarketingจัดงานBEST SELLING AWARDS 2023 รางวัลการันตีสุดยอดผลิตภัณฑ์แห่งปี ตลอดจนผุดแฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่ที่ “สยามสแควร์” เพื่อหวังดัน Brand Loyalty พร้อมเดินหน้าคว้าเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ “KylieCosmetic” เครื่องสำอาง-น้ำหอมตัวดังระดับโลก มากระตุ้นยอดขายในปี 2567
ซึ่งปัจจุบัน อีฟแอนด์บอยมีสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นกลุ่มสกินแคร์ 35%, กลุ่มเมกอัพ 33%, น้ำหอม 14% และอื่น ๆ 18% ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้ามากกว่า 2 ล้านคน อีฟแอนด์บอยมีสาขาทั้งหมด 29 สาขาทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดจะมีประมาณ 25% อาทิ พัทยา ขอนแก่น โคราช หาดใหญ่ มหาสารคาม
ทั้งนี้ ปัจจุบันอีฟแอนด์บอยมีสินค้า Exclusive กว่า 1,000 รายการ รวม 30 กว่าแบรนด์ ซึ่งในอนาคตก็จะยังคงพยายามหาแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเข้ามาทำตลาดเมืองไทยเข้ามาจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อการันตีความเป็นอันดับ 1 ของอีฟแอนด์บอยในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด
ขณะที่ “บิวเทรี่ยม” บิวตี้ รีเทลชั้นนำ ดำเนินธุรกิจ 13 ปี กางโร้ดแมปทุ่มงบ 2,000 ล้านบาท ขยายสาขาครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2570 พร้อมเดินเกมส์รุกสู่การเป็นบิวตี้ รีเทล ระดับสากล ปัจจุบันบิวเทรี่ยมมีสาขาทั่วประเทศทั้งหมด 49 แห่ง
โดยสาขาหลักอย่าง บิวเทรี่ยมสยามสเเควร์ ที่ทุ่มงบกว่า 25 ล้านบาทในการรีโนเวทในช่วงกลางปี 66 ที่ผ่านมามีกลุ่มลุกค้าหลัก คือ กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา ที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี กลุ่มวัย Gen Z และวัยทำงานตอนต้นอายุ 25-30 กว่าปี ที่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ ด้านลูกค้าต่างชาติ หากอิงตามการใช้จ่ายผ่าน E-Wallet จะอยู่ที่ 10-20% ของลูกค้าทั้งหมด ในวันธรรมดาทราฟฟิกต่อวันอยู่ในระดับ 6,000-7,000 คน ขณะที่วันหยุดสุดสัปดาห์อยู่ที่ราว 12,000-13,000 คน
ด้านนางสาวไพลิน อึ๊งพลาชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลตี้ บิวตี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัททุ่มงบกว่า 30 ล้านบาท เปิดร้าน “มัลตี้” แฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ ณ สยามสแควร์ ซอย 8 เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาด K-Beauty แม้กระแสความนิยมของ K-Beauty จะเริ่มแผ่วลง แต่ มัลตี้ บิวตี้ ยังคงมั่นใจในศักยภาพของตลาดนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสกินแคร์ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าแบรนด์จากฝั่งตะวันตก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 400-800 บาท เมื่อเทียบกับแบรนด์อินเตอร์ที่มีราคาสูงถึง 3,000-5,000 บาท
แฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่นี้ มีขนาดใหญ่กว่าสาขาอื่นๆ โดยมีพื้นที่กว่า 300 ตารางเมตร และตั้งอยู่ใจกลางย่านสยามสแควร์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นและผู้ที่สนใจด้านความงาม ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ มัลตี้ บิวตี้ ยังมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 2-3 สาขาภายในปี 2568 เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายให้แตะ 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
ปัจจุบัน มัลตี้ มีทั้งหมด 10 สาขา กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีสัดส่วนยอดขายจากกลุ่มสินค้าสกินแคร์สูงถึง 35% สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากเกาหลีในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย
เพราะเรื่องของความสวยความงาม บุคลิกภาพที่ดูดี เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ ไม่ว่าสาวหรือหนุ่ม ย่อมต้องดูแลสุขภาพ ความงามให้ดูดี เป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น ตลาดนี้ยังมีดีมานด์ที่สูงอีกมาก และพร้อมที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือดเลยทีเดียว
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,055 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567