จุรินทร์เร่งแก้อุปสรรคการค้าชายแดน ลุยเพิ่มมูลค่าการค้า ขยายช่องทั้ง ท่องเที่ยว และ คมนาคม ด้านเอกชนเสนอตั้งกรอ.ชายแดนไทย-ลาว หวังแก้ปัญหาตรงจุด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วม ภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะการค้าชายแดน โดยมีตัวแทนพาณิชย์จากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน 25 จังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย โดยภาคเอกชนเสนอให้มีการจัดตั้ง กรอ.ชายแดนไทย – ลาว ขึ้น เพื่อให้มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการค้า การลงทุน การขนส่ง รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อเสนอที่ กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าควรให้ความสำคัญและเห็นควรว่า ควรให้การสนับสนุน จึงมอบหมายให้ กรมเจรจาการค้ารับเป็นเจ้าภาพที่จะนำเรื่องนี้ไปนำเสนอในที่ประชุม Join – committee ระหว่างไทย – ลาวต่อไป ที่จะมีการประชุม JTC คณะกรรมการการค้าไทย-ลาว ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้
นอกจากนี้ภาคเอกชนอยากให้ประชาชนคนลาวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยเดิมอนุญาตให้สามารถใช้หนังสือเดินทางและเข้ามาในประเทศไทย 2 วัน 3 คืน ขอขยายขึ้นเป็น 7 วันเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการไทย-ลาว ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อหารือเรื่องนี้ซึ่งเป็นข้อตกลงไทย-ลาวมาก่อนแล้ว และยังขอให้มีความชัดเจนในการนำเงินบาทไปลงทุนในประเทศลาว ซึ่งเดิมเงิน 4.5 แสน – 2 ล้านบาท ต้องแจ้งต่อกรมศุลกากร ขณะนี้เกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกันในแต่ละด่าน จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงการคลังให้ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน
รวมไปถึง การขอขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย และ จ.มุกดาหาร เดิม 6.00-22.00 น. ขอขยายเวลาเป็น 5.00-24.00 น. ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เดิม 6.00-20.00 น. ขอขยายเป็น 5.00-22.00 น. ด่านท่าลี่ จ.เลย เดิม 7.00-18.00 น. ขอขยายเป็น 7.00-20.00 น. ซึ่งเป็นอำนาจของ กระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และการขออนุมัติเอกสาร ฟอร์ม D (เอกสารถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออก) โดยเอกชนเสนอขอให้มีความสามารถในการรับรองเอกสารส่งออกด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุมอาเซียนจะให้ดำเนินการให้ทันภายในมีนาคม 2563 กรณีที่เอกชนขอให้มีการอนุมัติเอกสารฟอร์ม D ไทย-ลาว ลาวขอให้มีการอนุมัติที่จุดชายแดน โดยไม่ต้องส่งไปที่เวียงจันทน์ รัฐมนตรีจากประเทศลาวได้แจ้งในที่ประชุมอาเซียนว่า ลาวจะสามารถอนุมัติเอกสารฟอร์ม D ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในสิ้นปีนี้ เพื่ออำนวยการส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว
นอกจากนี้ภาคเอกชนขอให้บุคลากรของลาวสามารถเข้ามาฝึกงานในไทยได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยไม่ต้องทำ Work Permit เพื่ออำนวยให้มีแรงงานของไทยที่จะกลับไปทำงานในประเทศลาวได้ซึ่งได้มอบหมายให้นำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมของ คณะกรรมการการค้าชายแดนซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ที่จะต้องพิจารณาต่อไป โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ข้อมูลการค้าระหว่างไทย-ลาว ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-กค.) ของปี 2562 รวมกว่า 117,116 ล้านบาท เป็นการส่งออก 70,228 ล้านบาท นำเข้า 46,888 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 23,340 ล้านบาท และการค้าชายแดนไทย-ลาว คิดเป็น 18% ของการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนม่า มาเลเซีย และมีสัดส่วนประมาณ99% ของการค้า ของไทย-ลาว ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์ สินค้าปศุสัตว์ น้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าอุตสาหกรรม โดยด่านสำคัญได้แก่ด่านศุลกากรหนองคาย มีมูลค่าการค้ารวม 35,162 กว่าล้านบาท รองลงมาคือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรทุ่งช้างด่านศุลกากรช่องเม็ก และ ด่านศุลกากรนครพนม