เวิร์คพอยท์ เดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์ป้อนทีวี-ออนไลน์ เล็งเปิดตัวผังใหม่พฤศจิกายนนี้ พร้อมจับมือพันธมิตรลุยต่อปีหน้า ขณะที่ภาพรวมทีวีดิจิทัลหลังเหลือ 15 ช่องเชื่อว่า ยังทรงตัวจากเศรษฐกิจอึมครึม
ความสำเร็จของ “เวิร์คพอยท์” นอกจากการเปลี่ยนภาพจากผู้ผลิตคอนเทนต์ ก้าวสู่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่สามารถยืนหยัดมีเรตติ้งในอันดับต้นๆ และมีกำไรได้แล้วนั้น การทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยการทำเทคโนโลยี มาต่อยอดจนสร้างเป็นรายได้ ทำให้วันนี้เวิร์คพอยท์ถือเป็น “ต้นแบบ” ที่ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต้องจับตา
นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายในหลักสูตร Digital Transformation For CEO #1 ในหัวข้อ “ทฤษฎีลองผิดลองถูกบนความเปลี่ยนแปลง” ว่า เวิร์คพอยท์ให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและพบว่า ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์มากขึ้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวิร์คพอยท์ก้าวเข้าสู่ทีวีดิจิทัล การเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากทีวีดาวเทียมสู่ทีวีดิจิทัล จึงเดินควบคู่กันไปในทุกๆ แพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์
“การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนวิธีการคิด การค้าขาย หัวใจของการทรานส์ฟอร์มคือ ผู้ใหญ่ต้องลุยก่อน การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นสิ่งที่ยากเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว จนบางทีงงและเหนื่อย แต่วัฒนธรรมองค์กรต้องขยับ ต้องแอกทีฟ”
การทรานส์ฟอร์มของเวิร์คพอยท์ คือ การทดลองทำ ลองผิด ลองถูก หากว่าใช่ก็ลุยต่อ ซึ่งแน่นอนว่ามีข้อกำหนดว่าโปรเจ็กต์นี้จะสูญเสียได้แค่ไหน ที่ผ่านมามีการทดลองในหลายรูปแบบ ทั้งรายการต่างๆ รวมทั้งการเปิดช็อปปิ้งออนไลน์ โดยล่าสุดจับมือกับ ZAAP on sale เปิดขายสินค้าผ่านทางออนไลน์โดยทดลองทำ ระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง พบว่า ร้านค้าบางร้านสามารถขายสินค้าได้กว่า 3 แสนบาทใน 1 ชั่วโมง
“เวิร์คพอยท์เชี่ยวชาญด้านการผลิตคอนเทนต์ทีวีเก่ง โปรโมตสินค้าเก่ง แต่เราไม่เชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้า เราก็ต้องหาผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งที่ผ่านมามีพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ที่เข้ามาก็ต้องมีเคมีที่ตรงกัน ซึ่งในปีหน้าจะเห็นพาร์ตเนอร์อีกจำนวนมาก” นายชลากรณ์ กล่าวและว่า
คีย์ซักเซสของเวิร์คพอยท์ คือ การไม่ฟอร์ม เวิร์คพอยท์สามารถลองทำได้ทุกอย่าง ไม่เวิร์กก็เลิก ไม่ดื้อที่จะทำต่อ
สำหรับการทดลองทำโฮมช็อปปิ้ง ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นการทดลองและมีเพียง 1-2 รายการเท่านั้น ซึ่งอนาคตที่หลายคนคาดการณ์ว่า โฮมช็อปปิ้งอาจจะเข้าสู่เรดโซนนั้น “นายชลากรณ์” มอง ว่า มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะโฮมช็อปปิ้งจะแตกต่างจากทีวี คือจะเห็นยอดขาย ทุกคนรับรู้หมด ที่ผ่านมารายการที่จัดขึ้นในเวิร์คพอยท์ได้รับการตอบรับดีในระดับหนึ่ง แต่มาร์จินไม่ได้เยอะ และเวิร์คพอยท์เองก็ยังโฟกัสที่คอนเทนต์ทีวีและออนไลน์เป็นหลัก
นายชลากรณ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมสื่อทีวีหลังจากที่คืนช่องทีวีดิจิทัล ส่งผลให้เหลือเพียง 15 ช่องนั้น ในด้านการแข่งขันเชื่อว่าช่องที่อยู่ในอันดับ 1-6 น่าจะไปได้ แต่ถ้าหลุดจากนั้นจะเหนื่อย ขณะที่ภาพรวมการเติบโตเชื่อว่ายังคงทรงตัวจากเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทั้งปีอาจจะไม่มีการเติบโตเลยหรือเติบโตเล็กน้อย ส่วนเวิร์คพอยท์เองโดยภาพรวมยังทรงตัว ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะทยอยปรับผังใหม่ ส่วนในปีหน้าจะมีรายการใหม่ออกมาต่อเนื่อง แต่โดยรวมยังเน้นวาไรตีเกมโชว์เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายการเกมโชว์ราว 60%
“ช่วงที่ผ่านมาเรตติ้งทีวีก็ไม่ได้แย่มาก รายการที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เรตติ้งก็จะพุ่ง ที่เรตติ้งดีราว 8-9 ก็มีเยอะ แต่ไม่มากเท่ากับเมื่อก่อน ขณะที่เรตติ้งออนไลน์วัดยาก แต่ถ้าเทียบจากยอดวิวแล้วแพลต ฟอร์มออนไลน์ของเวิร์คพอยท์น่าจะมียอดวิวสูงสุด ทำให้บริษัทมีรายได้จากออนไลน์กว่า 300 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 20%”
ล่าสุดเวิร์คพอยท์ยังร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรกับ Facebook ในการเปิดตัว Facebook Watch บริการใหม่ที่เฟซบุ๊ก จัดทำขึ้น โดยร่วมกับ 5 ผู้ผลิตคอนเทนต์ยักษ์ ได้แก่ เวิร์คพอยท์, BEC, One31, Zense Entertainment และวู้ดดี้เวิลด์ นำคอนเทนต์มาให้ดูผ่านทาง Facebook อาทิ รายการ The Mask Singer, I Can See Your Voice นอกจากนี้จะผลิตคอนเทนต์วิดีโอแบบ Exclusive เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเป็นอีกแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ เพราะสามารถทำรายได้จาก Ad-Break
อย่างไรก็ดี ผลประกอบการโดยรวมของเวิร์คพอยท์ ในไตรมาส 2 พบว่ามีรายได้รวม 803 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 72 ล้านบาท ลดลง 37% โดยรายได้ธุรกิจทีวี จากช่องเวิร์คพอยท์และสื่อออนไลน์ มีรายได้ 598 ล้านบาท ลดลง 20% ขณะที่ธุรกิจรับจ้างจัดอีเวนต์ มีรายได้ 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท เติบโต 156% ส่วนธุรกิจการขายสินค้าและบริการ จากแบรนด์ Let Me In Beauty และรายการ 1346 Hello Shop และอื่นๆ มีรายได้รวม 95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% ขณะที่ใน 6 เดือนแรกของปี บริษัทมีรายได้รวม 1,575 ล้านบาท กำไรสุทธิ 147 ล้านบาท
หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3513 ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2562