สัมมนา
ในเวทีเสวนาหัวข้อ “B 10 ความเชื่อมั่นกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายใต้งานสัมมนา ” B 10 ปฏิรูปนํ้ามันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ที่จัดขึ้นโดยบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ปฯ ประกอบด้วย ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก ร่วมกับกระทรวงพลังงาน มีวิทยากรจากหลายหน่วยงานมาแลกเปลี่ยน เสนอมุมมอง และการเตรียมความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริม นํ้ามันไบโอดีเซล เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา
เร่งแก้สต๊อกซีพีโอล้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพัฒนาการใช้นํ้ามันไบโอดีเซลมาต่อเนื่อง ในการนำไบโอดีเซลหรือบี 100 มาผสมในเนื้อนํ้ามันดีเซล เพื่อช่วยเกษตรกรในการพยุงราคาปาล์มนํ้ามัน จนมาถึงนํ้ามันดีเซลบี 10 เป็นนํ้ามันพื้นฐาน ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมหมดแล้ว ทั้งปั๊มนํ้ามันที่ทยอยเปิดให้บริการดีเซลบี10 ผู้ผลิตนํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ซึ่งต่อไปจะมีการแยกสต๊อกซีพีโอสำหรับผลิตนํ้ามันไบโอดีเซลอย่างชัดเจน แยกต่างหากจากนํ้ามันปาล์มเพื่อการบริโภคของประชาชน
ขณะที่การแก้ปัญหาสต๊อกซีพีโอส่วนเกิน ที่เกิดจากการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนภาคใต้ ทั้งทางเรือ รถบรรทุก และกองทัพมด ทางกรมศุลกากร จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีการติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจเข้ม เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าคู่ขนานไปกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่จะต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ให้สามารถตรวจสอบปริมาณ ซีพีโอ ย้อนกลับตั้งแต่โรงสกัดไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้
ยันบี10ไม่มีปัญหาเครื่องยนต์
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.เป็นกลไกของภาครัฐที่เริ่มจัดจำหน่ายดีเซลบี2 ตั้งแต่ปี 2548 และขยับขึ้นตามลำดับจนถึงนํ้ามันดีเซลบี 10 ในปัจจุบัน ที่เริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา
ก่อนที่จะเริ่มจำหน่ายนํ้ามันดีเซลบี10 ทางสถาบันวิจัยของ ปตท.ได้นำไปทดสอบและใช้กับรถยนต์ในการขับเคลื่อนบนถนนในสภาพจริง พบว่าช่วยลดการเกิดปัญหาควันดำได้ 40% และเทียบเท่าการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ลงได้ 300 ตันต่อปี ในด้านสมรรถนะต่อเครื่องยนต์ ไม่เป็นปัญหา อีกทั้งการปรับสเปกนํ้ามันดีเซลบี7 ไปสู่นํ้ามันดีเซล บี10 ที่กำหนดให้ลดปริมาณโมโนกลีเซอไรด์ หรือกรดไขมันให้ตํ่าลง จากเดิมไม่สูงกว่า 0.7% ปรับเป็นไม่สูงกว่า 0.4% ยิ่งจะไม่ส่งปัญหาต่อการเกิดกรดไขมัน แต่ยอมรับว่ามีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น
ปั๊มนํ้ามันเร่งเพิ่มหัวจ่ายบี10
นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน มีนโยบายให้ภาคขนส่ง ใช้นํ้ามันดีเซลบี 20 บางจากก็ตอบสนองนโยบาย ปัจจุบันมีสถานีบริการที่จำหน่ายดีเซลบี20 แล้ว 560 สถานี และในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เริ่มจำหน่ายนํ้ามันดีเซลบี 10 และยัง ได้ปรับปรุงคุณภาพโดยเพิ่มสารซุปเปอร์บุสเตอร์ และสารทำความสะอาดหัวฉีด เพื่อให้ได้นํ้ามันดีเซล บี 10 ที่สะอาดและมีคุณภาพสูง
ทั้งนี้ ปัจจุบันแต่ละสถานีบริการมีนํ้ามันดีเซล 3 เกรด ได้แก่ บี 7 บี 10 และบี 20 การแก้ปัญหาคงจะต้องตัดหัวจ่ายนํ้ามันดีเซล บี7 มาจำหน่ายนํ้ามันดีเซลบี 10 แทน ขณะที่บางจากเองมีโรงงงานผลิตไบโอดีเซล บี100 ของตัวเอง จึงมั่นใจในการผลิต บี10 ที่มีคุณภาพ จะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
ปฏิรูปนํ้ามันบนดิน
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันของไทยปีนี้คาดการณ์จะมีผลผลิตซีพีโอ กว่า 3 ล้านตัน ไทยผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียที่คาดปีนี้จะมีผลผลิตกว่า 40 ล้านตัน ใหญ่กว่าไทยถึง 10 เท่า และมาเลเซียผลิตได้กว่า 20 ล้านตัน แปลว่าไทยถูกยักษ์ใหญ่ผู้นำตลาดโลกขนาบข้าง ทั้งการผลิตและราคา
ฉะนั้นสิ่งที่ไทยต้องทำคือจะตอบสนองความเคลื่อนไหวของตลาดโลกได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญของประเทศ ที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างนํ้ามันบนดินใหม่ หรือการส่งเสริมไบโอดีเซลให้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของราคาปาล์มนํ้ามันให้กับเกษตรกร
ค่ายรถพร้อมปรับตัว
นายธนวัฒน์ คุ้มสิน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ดีเซลในไทยประมาณ 10.5 ล้านคันในจำนวนนี้ประมาณ 50% หรือ 5 ล้านคันสามารถ ใช้นํ้ามันดีเซลบี10 ได้ ส่วนรถยนต์ดีเซลที่เหลือคาดว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ จะทยอยออกมารับรองต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้นํ้ามันดีเซลบี 10 จะทำให้มีการชะล้างเขม่าได้ดีขึ้นกว่าเดิม การใช้ระยะแรกจึงควรจะเปลี่ยนไส้กรองนํ้ามัน และนํ้ามันเครื่องให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อไม่ให้เขม่าไปอุดตันเครื่องยนต์ แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนตามระยะเวลาเดิมที่กำหนด
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27-30 ตุลาคม 2562