รัฐ-เอกชนผนึกกำลังดัน B10 เพิ่มรายได้สวนปาล์ม

24 พ.ย. 2562 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2562 | 11:27 น.

ในงานสัมมนา “บี 10 พลิกโฉมปาล์มน้ำมัน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก และสื่อในเครือเนชั่น ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี (วันที่ 24 พ.ย.62) มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ประกอบด้วย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน,นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  นายกฤษดา ชวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.),นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด และนายณภัคธร ชัยสงคราม นายกสมาคมลานเทปาล์มน้ำมันประเทศไทย

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังดัน B10 เพิ่มรายได้สวนปาล์ม

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน  กล่าวว่า  ต่อจากนี้ไปปาล์มน้ำมันเพื่อการบริโภคจะลดลง เพราะต่างประเทศให้ความสำคัญกับการบุกรุกป่า  หลายปีที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมันของไทยมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ตามราคาตลาดโลก ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปดูดซับจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ)ที่สูงถึง 4 แสนตัน จากสต๊อกปกติควรอยู่ที่ 2.5 แสนตัน แนวทางที่ทำคือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)รับซื้อเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป้าหมาย 2.6 แสนตัน ขณะที่กระทรวงพลังงานจะผลักดันการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เป็นบี 10 ให้เป็นดีเซลพื้นฐาน และบี 20 เป็นทางเลือกซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันปาล์มถูกนำไปใช้ด้านพลังงานมากขึ้น แทนการบริโภคที่คาดว่าจะคงปริมาณอยู่ที่ 1 ล้านตันต่อปี

 

“นโยบายของกระทรวงพลังงานถือว่ามาถูกทางแล้ว ในการใช้พลังงานมาเป็นตัวหลักในการดูดซับ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร โรงสกัดน้ำมันปาล์ม และผู้ผลิตไบโอดีเซลเข้ามามีสัดส่วนการแบ่งปันอย่างสมเหตุสมผล เพราะมิฉะนั้นอุตสาหกรรมนี้ไปไม่รอด  ภาพรวมปีนี้ปริมาณผลผลิตซีพีโอจะมีทั้งสิ้น 3.2 ล้านตัน และมีสต๊อกยกยอดมาหลังดันไปทำพลังงานไฟฟ้าแล้วส่วนหนึ่ง ก็ใกล้ ๆ 2.5 แสนตันแล้ว ในปีนี้คาดว่า ถ้ากระทรวงพลังงานตัดสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบจากบี 7 ไปเป็นบี 10 มากขึ้น และมีบี 20 เป็นทางเลือก ผมคิดว่าปีนี้ปริมาณที่สมดุลจะเกิดขึ้น และราคาจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ"

สำหรับในช่วงนี้เชื่อว่าราคาผลปาล์มยังคงจะสูงขึ้นไปอีกตามกลไกตลาด จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.80-4.70 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ซึ่งการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน(4 บาทต่อกก.)เป็นการสร้างหลักประกันเงินในกระเป๋าให้เกษตรกร แต่อีกด้านหนึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการดันราคาปาล์มให้สูงขึ้นพี่น้องเกษตรกรก็จะได้ทุกคน รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียเงินในการจ่ายชดเชยประกันรายได้

"การผลักดันใช้ บี 10 จะช่วยดูดซับซีพีโอ ระดับราคาผลปาล์มน้ำมันจะสูงขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้นโยบายประกันรายได้ จากปัจจุบันราคาผลปาล์มดิบได้ขึ้นมาอยู่กิโลกรัมละ 3.80-4.70 บาทแล้ว จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบตามมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งชุดเฉพาะกิจในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวด"

 

รวมถึงจะติดมิเตอร์ตรวจแท้งก์น้ำมันทุกรายเพื่อดูแลสต๊อกเข้า-ออกว่ามีการเพิ่ม-ลด หรือมีการลักลอบนำเข้ามาหรือไม่ รวมทั้งมีการใช้ดาวเทียมตรวจสอบตรวจสอบแปลงไร่แปลงนา  และเชื่อมโยงกับกรมการขนส่งทางบกในการติดตามรถขนส่งน้ำมันทุกคัน ซึ่งต่อไปจะสามารถบอกได้ว่า ต่อไปควรเพิ่ม-ไม่ควรเพิ่มการผลิตปาล์มน้ำมัน และตรงไหนควรเพิ่ม ตรงไหนควรลด โดยเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการทั้งระบบ

 

"ในส่วนของเกษตรกรไม่ควรขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ควรรอดูทิศทางจากนโยบายนี้เพื่อสร้างความสมดุลของระบบก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะเป็นผู้ประสานงาน สร้างกติกาการรับซื้อย่างเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย”

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังดัน B10 เพิ่มรายได้สวนปาล์ม

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ผลิตซีพีโออันดับ 3  ของโลก ปริมาณราว 2.8 ล้านตันต่อปี  รองจากอินโดนีเซียที่ผลิตได้ 40 ล้านตัน และมาเลเซียที่ผลิตได้ 20 ล้านตันต่อปีตามลำดับ โดยเจ้าพ่อปาล์มตัวจริงคือ 2 ประเทศนี้ จากปริมาณผลผลิตรวมของโลกประมาณ 70 กว่าล้านตันตอนนี้ค่อนข้างเกินความต้องการ ทำให้ราคาตลาดโลกตก

ในส่วนปริมาณผลผลิตซีพีโอของไทย 2.8 ล้านตันของไทยนั้น  ใช้เพื่อการบริโภคเพียง 1 ล้านตัน ที่เหลือใช้เพื่อเป็นพลังงาน 1.4 ล้านตันแซงการใช้เพื่อบริโภคแล้ว และที่เหลือราว 4 แสนตันซึ่งเป็นปัญหาต้องส่งออกเจอราคาโลกตกต่ำ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนจะต้องสร้างสมดุลในประเทศ โดยการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันบี 10 จะช่วยดูดซับส่วนเกิน(4 แสนตัน)ได้ทั้งหมด จากปริมาณการใช้ด้านพลังงานจะปรับเพิ่มขึ้น 1-2% ทุกปีตามความต้องการใช้น้ำมัน

อย่างก็ตามการขยับส่วนผสมให้มีน้ำมันปาล์มในดีเซลมากขึ้นนั้นต้องพิจารณาถึงกลุ่มยานยนต์เป็นหลัก เพราะ  บี100(ไบโอดีเซล) บี 20 เหมาะกับรถขนาดใหญ่ ในขณะที่รถของไทยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ขนาดกลาง ดังนั้นการใช้ บี 10 จึงเหมาะสมและคุณภาพไม่ต่างกับ บี 7ในปัจจุบัน  แต่กระทรวงพลังงานสนับสนุนส่วนต่างราคาบี 10 ให้ถูกกว่าบี 7 ถึง  2 บาทต่อลิตร จึงเป็นทางเลือกของผู้ใช้  ซึ่งทางปตท. ได้ทดสอบ บี 10 แล้วพบว่าประสิทธิภาพของยานยนต์ไม่ต่างกัน แต่ให้การรักษาด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าถึง 40 % โดยค่าพีเอ็ม 2.5 ลดลง ถึง 3 %”

 

ปัจจุบันค่ายรถต่าง ๆ ขานรับบี 10 โดยในเดือนมกราคม 2563 ทุกจังหวัดจะมีบี 10 ใช้  และในเดือนมีนาคม 2563 จะมีน้ำมันบี 10 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดของ ปตท.1,800 สถานีทั่วประเทศ และจะทำให้น้ำมันบี 7 จะค่อย ๆ หายไป ทั้งนี้การรับซื้อของปตท.เป็นในรูปไบโอดีเซลบี 100 จากโรงสกัด ก่อนเพื่อนำมาปรับมาตรฐาน  ปัจจุบันมีคลังน้ำมัน บี100  ของปตท.ที่สุราษฎร์ธานี สงขลา  และที่สระบุรีคาดจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้

นายกฤษดา ชวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาปาล์มน้ำมันเคยตกต่ำเหลือแค่ 2.80 บาทต่อกิโลกรัม เป็นผลจากสต๊อกซีพีโอที่มากขึ้นในตลาดโลก เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากการปรับปรุงสายพันธุ์ปาล์มที่ดีขึ้น  ขณะที่จากมาเลเซียไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้ และอินโดนีเซียมีนโยบายไม่ขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ประกอบกับแนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีการใช้น้ำมันปาล์มมากขึ้น เพราะเป็นน้ำมันที่ราคาถูกสุด  เรื่องส่งผลให้สหภาพยุโรป(ยู)กีดกันน้ำมันปาล์ม เพราะเกรงจะเข้าไปแทนน้ำมันพืชชนิดอื่น

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังดัน B10 เพิ่มรายได้สวนปาล์ม

                     กฤษดา  ชวนะนันท์

ดังนั้นในระยะยาว ปาล์มยังเป็นพืชที่ดีของเกษตรภาคใต้  และปัจจุบันไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ราคาปาล์มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ทั้งนี้ราคาซีพีโอไม่ควรสูงกว่าราคาตลาดโลกเกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เพราะจะส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้า ส่วนเกษตรกรไม่ควรขยายพื้นที่ปลูก และไม่ควรขยายสร้างโรงสกัดเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงสกัดมากกว่าเกินกว่าผลผลิตปาล์มของประเทศกว่าเท่าตัว  และการขยายโรงสกัด จะส่งผลให้ต้นทุนของแต่ละโรงงานปรับเพิ่มขึ้นจะมีปัญหาตามมาอีก

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังดัน B10 เพิ่มรายได้สวนปาล์ม

                              ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด  กล่าวว่า  การใช้ บี 10 จะส่งผลให้สต๊อกซีพีโอในประเทศสิ้นปี 2562 เหลือ 2 แสนตันตามเป้าหมาย  และทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น ถือเป็นนโยบายที่ดี และเดินมาถูกทางในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มในประเทศด้วยนโยบายพลังงานทดแทน  รัฐบาลควรยึดนโยบายนี้เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่น ลดพื้นที่ปลูกในพืชที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังดัน B10 เพิ่มรายได้สวนปาล์ม

                                 ณภัคธร ชัยสงคราม

นายณภัคธร ชัยสงคราม นายกสมาคมลานเทปาล์มน้ำมันประเทศไทย กล่าวว่า การใช้บี 10  นั้น ควรเรียกว่า “ดีเซล”เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้  ในส่วนของลานเท ที่ผ่านมาให้การสนับสนุนมาโดยตลอดโดยกินส่วนต่างจากการรับซื้อปาล์มดิบที่ 30-40 สตางค์ต่อกิโลกรัมเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียน และจ่ายค่าปาล์มให้เกษตรกร ซึ่งเวลานี้ผลผลิตปาล์มของเกษตรกรมีน้อย ขณะที่สต๊อกซีพีโอมี 5-6 แสนตันถือว่าผิดปกติ ควรตรวจสอบ เพราะหากผลปาล์มเริ่มออกมามากอาจส่งผลกระทบราคา อย่างไรก็ดีนโยบายปาล์มน้ำมันเพื่อพลังงานเป็นนโยบายที่ดี ทางลานเทปาล์มพร้อมให้การสนับสนุน