นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

08 พ.ย. 2567 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2567 | 03:11 น.

"นฤมล” รัฐมนตรีเกษตรฯ แจ้งข่าวดี นบข.ไฟเขียว สินเชื่อพ่วงงบจ่ายขาด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา ใน 3 มาตรการ ดูดซับข้าวเปลือก 8.5 ล้านตัน สกัดราคาตก ขณะที่สมาคมชาวนาฯ เผยความคืบหน้ามาตรการไร่ละพัน ต้องไปหารือในคณะอนุฯการผลิต อีกครั้ง ยันชาวนาต้องการเงินมากกว่าปุ๋ย

 

วันที่ 8 พ.ย. 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 35,481 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,362.76 ล้านบาท)

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินงบประมาณ 15,656.25 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท) และ 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงินจ่ายขาด 585 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จัดทำรายละเอียดโครงการที่ 1 และ 2 และกรมการค้าภายในจัดทำรายละเอียดโครงการที่ 3 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) จำนวน 4 คณะ ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

2) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน 3) คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน และ 4) คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน

ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทาง แผนงาน มาตรการแก้ไขและพัฒนาด้านผลิต ด้านตลาด การชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกของรัฐบาล และดูแลให้ทั่วถึงในระดับจังหวัด

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย ปีการผลิต 2567/68 พื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

โดยรอบที่ 1 รอบนาปี มีพื้นที่เพาะปลูก 62.12 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 0.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.2 พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.29 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.03 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.05 ผลผลิตที่ได้ 27.04 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.21 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 1

รอบที่ 2 รอบนาปรัง มีผลผลิต 7.17 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.95 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 15 ในส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก ค่าความชื้นร้อยละ 15 ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,750 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 บาท ต่อตัน ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,050 บาทต่อตัน เพิ่มจากปีก่อน 500 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,550 บาทต่อตัน ลดลง 1,600 บาทต่อตัน ข้าวเหนียว ราคาเฉลี่ยที่ 13,600 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 200 บาทต่อตัน

 

ส่วนราคาข้าวเปลือกค่าความชื้นร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12,200 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 800 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,100 บาทต่อตัน เพิ่มจากปีก่อน 400 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า ราคาเฉลี่ย 7,400 บาทต่อตัน ลดลง 1,200 บาทต่อตัน ข้าวเหนียว ราคาเฉลี่ยที่ 10,500 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ ในช่วงมกราคม - กันยายน 2567 อินเดียส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.84 ล้านตัน รองลงมา คือ ประเทศไทย ส่งออกประมาณ 7.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 จากปีก่อน มีปัจจัยเชิงบวกจากตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นบข. กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้เสนอในที่ประชุม นบข. 3 มาตรการ คือ 1.รื่องไร่ละพันที่ชาวนาต้องการนั้น ทางที่ประชุมรับทราบแล้วก็ให้ไปเข้าคณะอนุกรรมการด้านการผลิตฯ ก่อน ส่วนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ถ้าได้ด้วยก็ยินดีรับ แต่หากให้เลือกข้อใดข้อหนึ่งจากการสอบถามชาวนาโดยส่วนใหญ่ต้องการจ่ายเป็นเงินโดยตรง มากกว่าปุ๋ย จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ค่าครองชีพสูงมาก ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนค่าแรงงาน ค่าน้ำมันและอื่น ๆ

2.แหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เป็นนารับน้ำฝนอย่างเดียว เสียเปรียบพื้นที่ภาคกลาง และ 3.พันธุ์ข้าว โดยในมาตรการที่ 2 และ 3 ที่เสนอไป ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้รับปากเรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ดีใน 3 มาตรการข้างต้นที่ นบข.มีมติออกมา รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาทมีเป้าหมายเพื่อเก็บสต็อกข้าวเปลือก 8.5 ล้านตัน

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

สำหรับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท  เป็นสินเชื่อช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขาย โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน โดยสามารถนำผลผลิต ข้าว 5 ชนิดมาขอกู้กับ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด วงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยแบ่งเป็น

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 12,500 บาทต่อตัน

ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 11,000 บาทต่อตัน

ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,000 บาทต่อตัน

ข้าวเปลือกเจ้า 9,000 บาทต่อตัน

ข้าวเปลือกเหนียว 10,000 บาทตัน

 

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการ อัด 6 หมื่นล้าน อุ้มชาวนา

อย่างไรก็ดี นายปราโมทย์ กล่าวว่า หากมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯด้านการผลิตเมื่อไร ก็จะติดตามในเรื่องที่ชาวนาสนใจอยู่ในขณะนี้คือ จะได้ไร่ละพันหรือไม่ ซึ่งในฐานะนายกสมาคมชาวนาฯ จะพยายามผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้ชาวนาทั้งประเทศได้ผลประโยชน์สูงสุด