กระเทียมจีนรุกหนัก กินรวบตลาดไทยหมื่นล.

16 ธ.ค. 2562 | 06:50 น.

กระเทียมจีนรุกหนักกินรวบตลาดโลก สะเทือนตลาดไทยมูลค่า 1 หมื่นล้าน จากราคาถูกกว่ากันอื้อ ม.หอการค้าไทย เผยแย่งแชร์ตลาดได้แล้วเกือบ 3,000 ล้าน จี้รัฐคุมเข้มนำเข้า เกษตรกรเร่งปรับตัวก่อนหมดอาชีพ

 

 

อาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมของไทยตั้งอยู่บนความเสี่ยงจากมีสินค้ากระเทียมจากจีน ผู้ผลิตและส่งออกกระเทียมรายใหญ่สุดของโลกเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้นทุกปี โดยกระเทียมจีนมีต้นทุนการผลิต และราคาขายต่ำกว่ากระเทียมไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (กราฟิกประกอบ) ซึ่งอนาคตหากคนไทยให้ความนิยมบริโภคกระเทียมจีนมากขึ้น อาชีพผู้ปลูกกระเทียมอาจถูกกลืนจากสินค้าจีนหากไม่เร่งปรับตัว

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมไทยกว่า 25,000 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกรวมกว่า 8 หมื่นไร่ กำลังได้รับผลกระทบจากกระเทียมจีนที่เข้ามาแย่งตลาดกระเทียมในประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มากขึ้นทุกขณะ จากกระเทียมจีนมีต้นทุนการผลิตที่ตํ่า โดยต้นทุนกระเทียมสดจีนเฉลี่ยที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และกระเทียมแห้งต้นทุน 15 บาทต่อกก. ขณะกระเทียมสดไทยต้นทุนเฉลี่ย 11 บาทต่อกก. และกระเทียมแห้งเฉลี่ย 35 บาทต่อกก. (เกษตรกรระบุต้นทุน 45 บาทต่อ กก.) ทำให้กระเทียมจีนขายได้ใน
ราคาตํ่ากว่ากระเทียมไทยมาก 

กระเทียมจีนรุกหนัก  กินรวบตลาดไทยหมื่นล.

 

ข้อมูลจาก www.kasetprice.com ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ราคาขายปลีกกระเทียมแห้งเบอร์กลาง ณ ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท จังหวัดปทุมธานี กระเทียมไทยเฉลี่ยที่ 77 บาทต่อกก. ส่วนกระเทียมจีนเฉลี่ยเพียง 50 บาทต่อกก. จากราคาที่เกษตรกรจีนขายกระเทียมสดในตลาดจีนอยู่ที่ 14 บาทต่อกก. และราคาขายส่งในตลาดจีนอยู่ที่ 25 บาทต่อกก. ทั้งนี้จีนเป็นผู้ผลิตกระเทียมรายใหญ่สุด คิดเป็น 80% ของผลผลิตโลก ข้อมูลปี 2559 มีผลผลิต 22 ล้านตัน(จากผลผลิตโลก 26.5 ล้านตัน) เทียบกับไทยมีผลผลิตเฉลี่ย 8 หมื่นตันต่อปี และคาดในปี 2568 ผลผลิตกระเทียมโลกจะเพิ่มเป็น 31 ล้านตัน โดยจีนยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด

กระเทียมจีนรุกหนัก  กินรวบตลาดไทยหมื่นล.

“ปัจจุบันตลาดกระเทียมในไทยมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นกระเทียมไทย 7,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 3,000 ล้านบาทเป็นกระเทียมนำเข้า ซึ่งเกือบ 100% นำเข้าจากจีน ซึ่งประเด็นที่ไทยต้องเร่งแก้ไขคือ 1.มีการลักลอบนำเข้ากระเทียมหัวใหญ่มาจากจีน ตัวเลขนำเข้าอย่างเป็นทางการปีละ 7 หมื่นตัน บวกลักลอบนำเข้าอีกเป็นแสนตัน เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายในไทยมากในราคาถูก ๆ แข่งกับกระเทียมหัวเล็กของไทย ราคากระเทียมไทยจึงมีแนวโน้มตกตํ่าลงเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยเก็บภาษีนำเข้ากระเทียมภายใต้กรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก(WTO) ในโควตา 60-70 ตันต่อปี เก็บภาษีนำเข้าประมาณ 27% และนอกโควตาเก็บภาษีนำเข้า 57% ซึ่งแม้ว่าเสียภาษีนำเข้านอกโควตา 57% แต่ราคากระเทียมจีนก็ยังถูกกว่ากระเทียมไทย และมีการลักลอบเพราะราคากระเทียมในไทยขายได้แพงกว่า

“รัฐต้องทบทวนมาตรการนำเข้า เช่น การจำกัดด่านนำเข้า ตรวจสอบคุณภาพกระเทียมนำเข้าว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือมีสารตกค้างปนเปื้อนหรือไม่ พิสูจน์ว่ามีการทุ่มตลาดหรือไม่ โดยตรวจสอบราคาขายปลีกในจีนกับราคาในไทยว่าเท่ากันหรือไม่ การตรวจสอบการเสียภาษีของผู้นำเข้า และเข้มงวดในการเปิดบริษัทนำเข้ากระเทียม เป็นต้น ไม่เช่นนั้นแล้วกระเทียมไทยหมดอนาคตแน่”

 

กระเทียมจีนรุกหนัก  กินรวบตลาดไทยหมื่นล.

นายอนุสรณ์ คำอ้าย ประธานเครือข่ายผู้ปลูกกระเทียม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเหนือเป็นพื้นที่ปลูกกระเทียมมากสุดของประเทศ (สัดส่วน 98%) ขณะภาพรวมผลผลิตกระเทียม(แห้ง) ของไทยมีผลผลิตเฉลี่ย 7 หมื่นตันต่อปี จากความต้องการบริโภครวมประมาณ 1.4 แสนตันต่อปี ดังนั้นจึงมีการนำเข้ามากกว่าปีละ 7 หมื่นตัน โดยเกือบ 100% นำเข้าจากจีนผ่านหลายช่องทาง เช่น ทางเรือมายังท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย ผ่านแม่นํ้าโขงมาทางอำเภอเชียงแสน และทางรถยนต์ผ่านทางเมียนมา มายังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านทางถนน R3A มายังภาคอีสานของไทย ส่วนหนึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน ก่อนกระจายไปทั่วประเทศ

“กระเทียมจีนต้นทุนการผลิตเพียง 13-15 บาทต่อกิโลฯ ส่วนกระเทียมไทยต้นทุน 43-45 บาทต่อกิโลฯ จากต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าแรงเราสูงกว่า รวมถึงมีต้นทุนเงินกู้ และเวลานี้คนไทยก็นิยมบริโภคกระเทียมจีนมากขึ้น แม้จะไม่หอมหรืออร่อยเท่ากระเทียมไทย แต่จากราคาถูกกว่า แกะง่ายกว่า และจากผลผลิตกระเทียมไทยไม่พอบริโภคจึงเป็นโอกาสของกระเทียมจีนที่จะเข้ามาขายมากขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยกันหาทางออก เพื่อให้เกษตรกรไทยอยู่รอด เช่น หาพันธุ์ใหม่ๆ ได้กลีบใหญ่ๆ มาผลิตแข่ง หรือหันไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น” 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562