นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ ตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 16% จากปีงบประมาณ 2567 ที่อยู่ระดับ 5.6 แสนล้านบาท ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมที่เพิ่มขึ้น 16% นั้น กรมจะมีการหารือภายในร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่าจะขอดูเป้าหมายและหักลบส่วนนโยบาย โดยกรมเน้นการจัดเก็บรายได้ แต่จะสร้างสมดุลการสนับสนุนนโยบายการจัดเก็บด้วย ฉะนั้น อาจจะมีการปรับลดเป้าลงมา
อย่างไรก็ตาม ตามกระบวนการงบประมาณมีการจัดตั้งงบก่อนที่จะมีการดำเนินนโยบาย ฉะนั้น กรมจะต้องดูสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนที่กรมจะจัดเก็บได้ และการเสียเม็ดเงินเพื่อสนับสนุนบางอุตสาหกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตในอนาคต และจะมีเม็ดเงินเข้ารัฐในอนาคต
“เราจะพยายามสร้างความสมดุลจากนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เพื่อให้แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมจะเสียเม็ดเงินส่วนนี้ จากการลดภาษีสรรพสามิต แต่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้มหาศาล เป็นเม็ดเงินเข้าประเทศ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น”
ทั้งนี้ แม้กรมสรรพสามิตเข้าไปลดภาษี ก็มีรายได้กับมาเพิ่มขึ้น เช่น การลดภาษีไนต์คลับ จาก 10% เหลือ 5% ก็มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเพิ่มประสิทธิในการจัดเก็บ ต้องดูส่วนใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินที่กรมควรจะได้ โดยขณะนี้กรมกำลังดูเรื่องราคาขายปลีกแนะนำ
“ถ้าเราเก็บภาษีตามปริมาณ ก็จะได้เม็ดเงินตามจำนวนการใช้ แต่อัตราภาษีตามราคา จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นราคาขายปลีกแนะนำที่นำมาใช้ในการจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิต ก็มีการหารือกับถึงการเพิ่มประสิทธิภาพส่วนนี้ โดยจะดูราคาขายปลีกแนะนำที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้แน่ชัด สะท้อนการซื้อขายราคาตลาดที่แท้จริง สำรวจร้านขายปลีกแนะนำ”
อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2568 นั้น การจัดเก็บรายได้ของกรมยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยไตรมาสแรกของปีงบ 2568 ตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าสิ้นเดือนธ.ค.นี้ จะสามารถทำได้ 1.2 แสนล้านบาท
“เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในแต่ละไตรมาสจะไม่เหมือนกัน โดยในไตรมาสแรกจะน้อยกว่าไตรมาส 2-4 ฉะนั้น ส่วนนี้เราจึงจัดเก็บได้อยู่ แต่ที่ท้ายทายเพราะเรามองทั้งปี เมื่อเทียบ 6.09 แสนล้านบาท จากปีที่แล้วที่จัดเก็บได้เพียง 5.23 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ ภาษีสรรพสามิตที่มีแนวโน้มจัดเก็บรายได้ลดลงมา คือ ภาษีรถยนต์ที่เกี่ยงข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า และแนวโน้มส่วนใหญ่คนหันไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น จึงกระทบต่อการจัดเก็บภาษีรถยนต์ด้วย โดยแนวโน้มจัดเก็บรายได้ไตรมาส อันดับแรกยังมาจากภาษีน้ำมัน ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาษีรถยนต์ คาดว่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ลดลงมาจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท