เงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาท แตะ 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งท้ายปี 2562 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ซึ่งนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาระบุ(31 ธ.ค.)62ว่า เป็นผลจากการเร่งทำธุรกรรมก่อนสิ้นปีของผู้ประกอบการบางรายในสภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ความต้องการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศไม่สมดุลในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสกุลเงินภูมิภาคในช่วงปลายปีด้วย หลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาวไปแล้ว สภาพคล่องของตลาดจะกลับสูงขึ้นเป็นปกติ ธุรกรรมจะสมดุลมากขึ้นระหว่างฝั่งซื้อและขายเงินตราต่างประเทศ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะลดลง อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับภาคเอกชน เฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออก
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากเงินบาทที่แข็งค่ามากในเวลานี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ ผู้ที่ซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง และคนไทยที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ผู้ที่เสียประโยชน์คือ ผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ที่ต้องโค้ดราคาสินค้าในราคาที่สูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน และเสียเปรียบคู่แข่งขันมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเองไทยที่ต้องจ่ายแพงขึ้น
“ทิศทางแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากสภาวการณ์ต่าง ๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่มากนัก อีกทั้งด้วยเงินทุนสำรองของไทยที่มีอยู่มาก นักลงทุนระยะสั้นที่ลงทุนในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น ยังมองเงินบาทน่าเป็นที่ลงทุนระยะสั้น ที่ผ่านมากำไรเฉพาะจากค่าเงินที่แข็งค่า หากได้นำเงินมาลงทุนในไทยปี 2561 ขณะนั้นดอลลาร์ที่ส่งเข้ามาแลกได้กว่า 35 บาท ณ วันนี้ หากนำเงินออก เปลี่ยนเงินบาทเป็นดอลลาร์ก็ได้กำไรกว่า 15% และยังได้กำไรจากผลตอบแทนพันธบัตรที่ได้ลงทุนไป รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 20% ถือว่ากำไรที่ได้ในเวลาไม่ถึง 2 ปี นับว่ากำไรมาก”
ดังนั้นเห็นว่า ธปท. คงต้องหาทางลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก 0.25%-0.5% เพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติที่ได้ลงทุนไปแล้วได้กำไรที่คาดหวังไว้ โดยหวังว่านักลงทุนจะพอใจแล้วส่งเงินไหลกลับออกไปบ้าง อันจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง และนักลงทุนส่วนที่จะเข้ามาใหม่จะไม่ส่งเงินเข้ามาอีก ซึ่งต้องมองจากมุมของนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้เป็นหลัก ไม่ใช่มองว่าจะให้นักธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนต่างประเทศอย่างเดียว
ทั้งนี้จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาประมาณ 8% นับจากต้นปี 2562 ทำให้รายได้ส่งออกรูปเงินบาทของภาคเอกชนหายไปประกอบด้วย 1.ผู้ส่งออกส่งสินค้าออกไปได้รับเงินบาทน้อยลงเรื่อย ๆ หากไม่ปรับราคาสินค้าส่งออกให้แพงขึ้นในรูปของดอลลาร์ 2. หากปรับราคาสินค้าสูงขึ้นในรูปดอลลาร์ ผู้นำเข้าก็ไม่ซื้อ หรือซื้อน้อยลง
“ในปี 2562 หากการส่งออกของไทยลดลง 3% รายได้ส่งออกในรูปดอลลาร์จะหายไปประมาณ 7,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ปี 2561 ไทยส่งออก 252,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 3% เท่ากับ 7,589 ล้านดอลลาร์ หรือส่งออกได้ที่ 245,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือ 229,188 ล้านบาท(ที่อัตราแลกเปลี่ยน 30.20 บาทต่อดอลลาร์) แต่หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยปี 2562 ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์รายได้ส่งออกทั้งปีจะหายไป 235,259 ล้านบาท”