มติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เห็นชอบการทบทวนระบบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยจากนี้จะให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เนื่องจากรูปแบบเดิม คณะกรรมการมีเอกชนและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมด้วย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
โดยรูปแบบใหม่จะมีคณะกรรมการแยกออกมา 1 ชุด คือคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีปลัดกระทรวง เกษตรฯ เป็นประธานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยไม่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วม จะทำหน้าที่จัดสรรสิทธิการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการที่ขอเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการดำเนินการจะต้องแล้วเสร็จและให้เด็กมีนมโรงเรียนดื่มเมื่อเปิดปีการศึกษา พ.ค. 2562 ได้ทดลองผ่านมา 2 เทอมในปี 2563 โดยงบประมาณที่ใช้ต่อปี 1.4 หมื่่นล้านบาท
นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ยังมีปัญหาอยู่เดิมในการผูกขาด ดังนั้นทางกรมปศุสัตว์จึงร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติอาหารเสริมนมเพื่อเด็กและเยาวชน จากเดิม ครม.ให้นโยบายมาแล้วตามทีกระทรวงเกษตรเสนอไป เพียงแต่มาปรับในรายละเอียด เช่น วันส่งสินค้า วันทำสัญญา การชำระหนี้ของภาคเอกชนที่ไม่ค่อยชำระกัน จะลงรายละเอียดตรงนี้มากขึ้น
ยกตัวอย่าง การจัดสรรพื้นที่ทีมีปัญหาในกรณีที่เขตกลุ่ม5 ที่ไปจัดสรรในสัดส่วนไม่ได้ เช่น หนองโพอยู่ในจังหวัดราชบุรี ว่าซื้อนมมากแต่ได้จัดสรรแค่ 80% ส่วนอีก20% ไม่ได้ ดังนั้นวิธีแก้จะต้องหารให้มีความเท่าเทียม อะไรที่สับสนในวิธีปฎิบัติ ปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการจัดแบ่ง 5 โซน จัดกลุ่มพื้นที่จำหน่ายยังเหมือนเดิม ปริมาณน้ำนมดิบที่มากขึ้นจะใช้สัดส่วนในการแบ่งโควตาต้องสอดคล้องกับเอ็มโอยู
“เช่น ทำสัญญาอยู่กับใคร ก็จะต้องอยู่กับคนนั้น จะไปทำสัญญากับคนอื่นไม่ได้ แล้วพันธสัญญาจะต้องสอดคล้องกับเอ็มโอยู หากน้ำนมดิบเพิ่ม ผู้ประกอบการนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด คราวที่แล้วมีปัญหาเพราะต่างคนต่างอยู่ เรียกว่าปิดช่องโหว่ ระบบนี้ไม่มีปัญหา การเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ไม่เกี่ยวเกษตรกรเลย เรียกว่าน้ำนมดิบทุกหยดขายได้หมด ผู้ประกอบการเข้าร่วมอย่างเป็นธรรมมากขึ้น เรียกว่าซื้อนมมากมีโอกาสมากซื้อน้อยมีโอกาสน้อย ไม่ล็อคอย่างในอดีต และที่สำคัญเด็กนักเรียนมีหลักประกันในเรื่องของคุณภาพสินค้าอยู่แล้ว
นายวสันต์ กล่าว ว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนม หรือ อ.ส.ค. จะต้องแยกเป็น 2 ส่วน ก็คือทำเอ็มโอยูปกติทำอยู่แล้ว ส่วนนมโรงเรียนจะให้สัดส่วนเท่าไรค่อยไปว่ากัน ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ไม่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากไปขอคืนโควตาในพื้นที่ด้วย (อ.ส.ค.ได้โควตานมโรงเรียน 128 ตัน/วัน สูงสุดเป็นระดับ1 รองลงมาเป็นสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น )
ในส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ หากคิดจะสร้างโรงงานแล้วมาขอเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนทันทีไม่ได้ อย่างน้อยต้องแบกน้ำนมดิบซื้อขายเอง 6 เดือนก่อนถึงจะมีสิทธิ์ ที่สำคัญหากไม่มีเอ็มโอยูจะเข้ามาไม่ได้ เมื่อร่างหลักเกณฑ์แล้วจะมีการรับฟังความคิดเห็นในเร็วๆนี้ คาดว่าจะใช้ทันเทอม1/2563
ด้านแหล่งข่าวผู้ประกอบการนมโรงเรียน ว่า การจัดสรรครั้งนี้อาจจะมีการล็อคโควตาให้กับรายใหญ่ไม่เกิน 80 ตัน ต่อวัน อยู่ในระหว่างการพูดคุยหารือกันยังสรุปไม่ได้