ส่องแหล่งรายได้กทม.

19 ม.ค. 2563 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2563 | 07:32 น.

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,556.7 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเมืองหลักด้านธุรกิจการค้าและการลงทุน มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์หรือ มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ทัดหน้าเทียมตาประเทศชั้นนำระดับโลก

ด้วยการลงทุนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลากหลายเส้นทาง ส่งเสริมให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว ลดปัญหาจราจร ตั้งเป้าหมายในปี 2565 กรุงเทพมหานครจะยกระดับเป็นมหานครระบบรางในระดับโลก โดยรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ จะมีระยะทาง 464 กม. ทำลายสถิติความยาวของรถไฟฟ้าใต้ดินในลอนดอนที่มี 402 กม. และนิวยอร์ก 380 กม. จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีการเติบโตอย่างมาก มีประชากรอยู่หนาแน่น
 

จากรายงานรายได้และค่าใช้จ่ายประจำปี 2563 ณ วันที่ 1 ตุลาคม - 27 ธันวาคม 2562 โดยสำนักการคลัง กรุงเทพ มหานคร พบว่าในส่วนรายได้จากประมาณการรายรับ 83,000 ล้านบาท รับจริงกว่า 22,388 ล้านบาท หรือประมาณ 27% ของตัวเลขประมาณการ ฉะนั้น รับจริงตํ่ากว่าประมาณการ 60,611 ล้านบาท หรือ 73%

แหล่งที่มาของรายได้ กทม. หลักๆ แล้วมาจากภาษีต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่ง 3 ภาษีสำคัญที่เป็นฐานหลักของรายได้ นั่นคือ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน สุดท้ายภาษีป้าย ในปี 2562 ตั้งเป้าหมายจัดเก็บ 3 ภาษีดังกล่าวรวมกัน 15,539.40 ล้านบาท แต่จัดเก็บได้ 5,517.74 ล้านบาท คิดเป็น 35.51% ตํ่ากว่าเป้าหมาย 10,021.66 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีรายได้ที่ส่วนราชการเก็บให้ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนํ้ามัน ภาษียาสูบ ภาษีสุรา ภาษีการพนัน ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ ภาษีธุรกิจเฉพาะภาษี/ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นต้น โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงสุด 3 อันดับแรก มีดังนี้ 1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 3. ภาษี/ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับใช้ แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่เดิม ย่อมกระทบต่อรายได้ของ กทม.อย่างแน่นอน จะมากจะน้อยแค่เพียงไรก็ต้องรอความชัดเจนจากกฎหมายลูกที่จะตามมา

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563