‘ซีแวลู’เล็งเป้า 2.4 หมื่นล้าน ส่งออกทูน่าปัจจัยเสี่ยงยังอื้อ

07 ก.พ. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2563 | 11:01 น.

ตลาดส่งออกซบเซา "ซี แวลู"เล็งเป้าปี 63 ยอดขาย 2.4 หมื่นล้านใกล้เคียงปี 62 ชี้สงครามการค้า ค่าเงินบาท ไวรัสโคโรนายังเป็นปัจจัยเสี่ยงลุ้นโรงงานอาหารสัตว์เปิดใหม่ปีนี้ช่วยเพิ่มยอด

 

ปี 2562 มูลค่าการส่งออกไทยติดลบ 2.7% ผลกระทบจากปัจจัยลบหลักจากสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทแข็งค่ากระทบความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้บริษัทส่งออกไทยโดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบยอดขายและกำไรที่ลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ทูน่ารายใหญ่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปี 2562 ที่ผ่านพ้นไปบริษัทมียอดขายประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ในแง่ผลกำไรเป็นไปตามเป้าหมาย ยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้าดังกล่าวเป็นผลกระทบจากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ส่งผลถึงราคาสินค้าที่ลดลง และจากเงินบาทแข็งค่ากระทบความสามารถในการแข่งขัน

ในปี 2563 บริษัทพยายามจะรักษาระดับยอดขายเท่ากับในปี 2562 โดยยังมีกำไร จากยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการลงนามข้อตกลงการค้าในเฟส 1 ซึ่งดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง แต่ก็จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงไปจนถึงจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ รวมถึงเงินบาทที่เวลานี้แม้จะอ่อนค่าลงมาบ้างอยู่ที่ระดับกว่า 30 บาทปลาย ๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ระดับที่ทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้นควรอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดยังต้องรอว่าจะส่งผลบวกหรือลบต่อการส่งออกไทยไปจีนอย่างไร

“นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่ขึ้น-ลงก็มีผลต่อยอดขาย เวลานี้เฉลี่ยที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เทียบช่วงเดียวกับปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 1,300-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน อย่างไรก็ดีปีนี้โรงงานแห่งใหม่ที่เป็นโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงของเครือลงทุน 600 ล้านบาท จะแล้วเสร็จและเปิดได้กลางปีนี้ และได้ลงทุนห้องเย็นอีก 700 ล้านบาท เปิดปลายปีนี้ ทั้ง 2 โปรเจ็กต์ตั้งเป้าจะช่วยเพิ่มรายได้ของเครืออีก 3,000 ล้านบาทต่อปี”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563