คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน ได้รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น
นางทัชยา รักษาสุข กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ธวัชฟาร์ม จำกัด อุบลราชธานี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ ( วันที่ 9 มีนาคม 2563 ) ได้ส่งหนังสือคัดค้านหลักเกณฑ์ใหม่ ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใส แตกต่างจากอดีตที่จัดสิทธิในอัตราลดทอนที่เท่าเทียมกัน ต่อนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ผ่านกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการฯ เรียบร้อยแล้ว
ยกตัวอย่างใน ร่างหลักเกณฑ์ฯ ข้อที่ 5 ที่กำหนดว่าคุณสมบัติของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ณ วันรับสมัคร หากในปีการศึกษา 2562 บริษัทหรือโรงงาน ได้รับการลงโทษการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย “อีโคไล” นั้นจะขาดคุณสมบัติไม่อาจเข้าร่วมโครงการในปี 2563 ได้ บริษัทมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม อันเป็นการกีดกันมิให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมจำหน่ายนมโรงเรียนได้อย่างเสรีในการประกอบอาชีพ ซ้ำยังเป็นการก่อให้เกิดการผูกขาดตัดตอนในทางตรงและทางอ้อม
“ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าบุคคลย่อมเสนอมกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเที่ยมกัน และมาตรา40 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และวรรคสองกำหนดว่าการจำกัดเสรีภาคตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”
นางทัชยา กล่าวว่า การจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนได้แยกลดทอนปริมาณน้ำนมดิบออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเอง จะไม่ถูกลดทอนปริมาณน้ำนมดิบ และถ้าหากมีแหล่งที่มีของน้ำนมโคในกลุ่มพื้นที่จะถูกตัดทอนปริมาณน้ำนมดิบเพียงร้อยละ5 และหากมีแหล่งที่มีของน้ำนมในกลุ่มนอกพื้นที่จะถูกตัดทอนปริมาณน้ำนมดิบเพียงร้อยละ10
2.ประเภทที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ไม่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเองหากมีแหล่งที่มาของน้ำนมในกลุ่มพื้นที่จะถูกตัดทอนปริมาณน้ำนมดิบเพียงร้อยละ 15 และหากมีแหล่งที่มาของน้ำนมในกลุ่มนอกพื้นที่จะถูกตัดทอนปริมาณน้ำนมดิบเพียงร้อยละ20
“จะเห็นว่าการจัดสรรสิทธิตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเองกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ไม่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเอง โดยสภาพความเป็นจริงที่ผ่านมาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ไม่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเองแต่จะเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจะไปรับซื้อน้ำนมดิบจากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเองที่มีการจำหน่ายน้ำนมดิบที่มากเกินการผลิตจากศูนย์น้ำนมดิบในกลุ่มพื้นที่และนอกกลุ่มพื้นที่ซึ่งจะทำให้น้ำนมดิบไม่ล้นตลาดและได้จำหน่ายออกหมดสิ้น”
นางทัชยา กล่าว การที่ไม่มีศูนย์น้ำนมดิบเป็นของตัวเองไม่ควรที่จะนำมาให้ในหลักเกณฑ์ เนื่องจากข้อดีการไม่มีศูนย์น้ำนมดิบเป็นของตัวเองทำให้เกิดการแข่งขัน เกษตรกรก็ได้ขายน้ำนมดิบในราคาที่สูงกว่าผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีศูนย์รวมรวมน้ำนมดิบเป็นของตนเอง ซึ่งการกำหนดดังกล่าวทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เอื้อกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งศูนย์น้ำนมดิบเป็นของตัวเอง ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่ง ใสเลือกปฎิบัติ จึงเห็นสมควรตัดออกและแก้ไขปรับปรุงใหม่