นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ในเวลานี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออกแล้วอย่างมาก จากกลุ่มลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ที่จองการผลิตไว้ล่วงหน้า 7-8 เดือน เวลานี้เกือบทั้งหมดมีการลดออร์เดอร์ลง 30-40% ของที่จองไว้ โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะกลับมาสั่งออร์เดอร์เหมือนเดิมเมื่อไร และก็ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อใด
“ผู้ประกอบการไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นอำนาจคสั่งซื้อของลูกค้า โดยพื้นฐานก็คือลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อได้เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเรามีหน้าที่ในการเตรียมกำลังการผลิตไว้ให้ แต่เมื่อเราเตรียมไว้แล้วเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างตอนนี้ลูกค้าก็สั่งลดได้ทันที”
จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่โรงงานผู้ผลิตจะต้องมีการปรับตัวว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยมีทางเลือกคือการลดกำลังการผลิตลง หรือดาวน์ไซซ์ เพื่อรักษาบุคลากรให้อยู่กับโรงงาน หรือจะปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปทำอย่างอื่น เช่น การเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้า เสื้อผ้าที่ใช้ในโรงพยาบาลสำหรับการกักกันโรค เป็นต้น แต่ก็คงมีออร์เดอร์ไม่มากเท่ากับยอดออร์เดอร์ที่หายไป
นอกจากนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องของกระแสเงินสด (Cash Flow) ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ โดยหากลูกค้ามีการลดออร์เดอร์คำสั่งซื้อ บางโรงงานก็อาจจะดำเนินกิจการต่อไปอีกได้เพียงแค่ 1 เดือน หรือเดือนครึ่ง หรือนานที่สุดน่าจะประมาณ 2 เดือน เพราะไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ
จากการประเมินสถานการณ์หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อต่อไปอีก 1 เดือนอาจทำให้มีบางโรงงานต้องปิดกิจการ แต่หากยืดเยื้อ 1 เดือนครึ่งอาจจะส่งผลทำให้โรงงานประมาณ 20-30% ต้องปิดกิจการ แต่หากยืดเยื้อเป็นระยะเวลา 2 เดือน อาจจะส่งผลทำให้โรงงานประมาณ 50% จะต้องปิดกิจการ จากไม่มีรายได้มาหล่อเลี้ยงธุรกิจและจ่ายค่าจ้างของพนักงาน ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีสัญญาณของการเลิกจ้าง และการลดอัตราเงินเดือนลงแล้วบ้างโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ
ส่วนโรงงานที่ผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศ ปัจจุบันก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าของรัฐบาลแล้ว เนื่องจากเมื่อห้างไม่มีการจำหน่ายสินค้า ก็ไม่มีออร์เดอร์เข้ามาที่โรงงาน และยังกระทบถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะเมื่อไม่มีการผลิตก็จะมีการระงับการสั่งผ้า กระดุม และชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ กระทบกันเป็นลูกโซ่
นายยุทธนา กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือ เรื่องของความชัดเจนของประกาศปิดโรงงาน ซึ่งยังไม่มีประกาศออกมา แต่ได้ส่งผลทำให้พนักงานหวาดวิตกและเริ่มเดินทางออกต่างจังหวัด โดยรัฐควรจะประกาศให้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดที่แนะนำให้ปิด หรืออุตสาหกรรมใดปิดไม่ได้ เพื่อผู้ประกอบการและคนงานจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง
ส่วนประเด็นสำคัญคือ เงินช่วยเหลือ รัฐควรเข้ามาช่วยสนับสนุนหากมีการประกาศให้หยุดงานเพื่อให้พนักงานมีรายได้โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกภาระ โดยอาจจะกำหนดไปเลยว่าระยะเวลากี่เดือนรัฐจะจ่ายให้ 75-100% แล้วทยอยลดลงในอีกกี่เดือนถัดมา เท่าที่ทราบสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้คนละ 7,500 บาท น่าจะไม่เพียงพอ อย่างน้อยต่อคนควรจะได้รับ 9,000-10,000 บาทต่อเดือน
สำหรับข้อมูล จำนวนโรงงานที่จดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบัน มีโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มประมาณ 2,200 โรงงาน และโรงงานสิ่งทอ ประมาณ 1,000 โรงงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2563