วีระศักดิ์ แนะ 8 ข้อดันงบ4แสนล.ถึงชุมชนรากหญ้า

09 เม.ย. 2563 | 02:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2563 | 11:08 น.

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เสนอรัฐ 8 ข้อการใช้เงิน 4 แสนล้านบาท ให้เข้าถึงชุมชนรากหญ้า แนะต้องใช้เพื่อชุมชน ในพื้นที่ ไม่ใช่งบกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ทำอะไรก็ได้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการ แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา กล่าวว่าในจำนวนงบที่คณะรัฐมนตรีมีมติครั้งประวัติศาสตร์อนุมัติไปทำพรก.เงินกู้ฯ เป็นการกู้มาตั้งเป็นงบประมาณพิเศษให้ใช้จ่ายเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาโควิด19ในกระบวนงานสาธารณสุขถึง 6 แสนล้านบาท นับว่าสร้างความอุ่นใจให้คนสายบริการสุขภาพ ได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท ครม.กำหนดให้ใช้เพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ โดยระบุไว้เป็นสองประเภท ประเภทแรก ใช้สร้างความเข้มแข็งของ"เศรษฐกิจชุมชน" ประเภทที่สอง ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับ"พื้นที่"
ครม.วางจุดเน้นให้มาแล้ว เงิน4แสนล้านนี้ ต้องใช้เพื่อชุมชน ในพื้นที่นี่ จึงไม่ใช่งบกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ทำอะไรก็ได้ และนี่ไม่ใช่งบให้ไปแข่งปั้นหาผู้ชนะจำนวนน้อยๆที่เป็นเลิศ แต่ให้ใช้ "ฟื้นฟู ทั้งสังคมและเศรษฐกิจระดับพื้นที่"
เงินนี้จึงควรส่งตรงไปที่กองทุนที่ประชาชนในชุมชนได้ดูแลออกแบบมีส่วนร่วมมากๆ กองทุนไหนมี"ขาใหญ่"คุมอยู่ก็ไม่พึงใส่ไปให้ เตะหมูเข้าปากโควิดเปล่าๆ และควรให้ชาวบ้านติดตามผลกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ด้วย

 

วีระศักดิ์ แนะ 8 ข้อดันงบ4แสนล.ถึงชุมชนรากหญ้า


ส่วนราชการแค่กำกับอยู่ไม่ไกล คอยสนับสนุนประคับประคองก็พออย่าได้ไปแย่งทำโครงการจากชาวบ้านอีกเลย ระบบ"คุณพ่อรู้ดี"นี่ทำพังแล้วก็รับผิดชอบไม่เคยไหว และนี่เงินกู้มานะครับ รัฐต้องรอเอาภาษีไปชดใช้คืน..ซึ่งยังมองภาพไม่ค่อยออกว่ากว่าประชาชนและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมาจ่ายภาษีได้ใหม่จะอยู่ราวพ.ศ.ที่เท่าไหร่

ข้อเสนอของผมมีกว้างๆดังต่อไปนี้
1.เมื่อเงินไปถึงกองทุนที่ภาคประชาชนเป็นคนขับแล้ว ควรเน้นการซื้อการจ้างในระดับท้องถิ่นให้มากจะซื้อปัจจัยใดก็ตาม ควรเฟ้นหาจากสิ่งที่มีการผลิตได้โดยชาวบ้านก่อนให้เงินมุ่งไปสนับสนุนที่กระบวนการผลิตของพวกเขา
2.ถ้าจะจ้างแรงงาน ก็ควรจ้างคนในท้องถิ่นที่ยังว่างงานก่อน เพื่อให้เขาอยู่ในท้องถิ่นนั้นทำสาธารณะประโยชน์ให้ท้องถิ่นนั้นจะทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม จะจ้างเขาเหล่านั้นไปดูแลช่วยเหลือผู้เปราะบางในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และเนื่องจากนี่เป็นงบพิเศษหนเดียวจบไม่ใช่งบประจำ
เป้าหมายการจ้างจึงควรเน้นให้ผู้รับจ้างทำในสิ่งที่จะเกิดผลประโยชน์ที่ใช้สอยได้นานๆ เช่นจ้างมาปรับปรุงทางเท้า ราวกันตก ให้ปลอดภัยขึ้นทั้งในพื้นที่สาธารณะและในเคหะสถานของกลุ่มเปราะบางเช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หรือสถานที่ๆมีเด็กๆ

วีระศักดิ์ แนะ 8 ข้อดันงบ4แสนล.ถึงชุมชนรากหญ้า

การจ้างไปปรับปรุงห้องน้ำ ทางลาด ราวจับ เปลี่ยนสายไฟฟ้า เพิ่มจุดส่องสว่าง หรือทำเรื่องลานกิจกรรมขนาดเล็กๆดูแลง่าย ใช้ได้สารพัดประโยชน์ เช่นเทพื้นทำลานตากผลผลิตการเกษตรระดับหมู่บ้านทำโรงเรือนกลางของชุมชนในการเก็บรักษาหรือพัฒนาแปรรูปผลผลิต

3.ถ้าให้ทันสมัยก็ใช้งบมาทำต่อยอดระบบออนไลน์ให้ชุมชนใช้ติดตามและนำเสนอผลผลิตของตนสู่ตลาดได้โดยไม่ผ่านตัวกลางเศรษฐกิจชุมชนจะเข้มแข็งถ้าลดการนำเข้าปัจจัยการผลิตลดการพึ่งพาคนกลางในการเข้าถึงตลาดเข้าถึงบทวิเคราะห์และข้อมูลเพื่อบริหารความเสี่ยงใช้ฝึกทักษะดิจิทัลให้ตัวแทนชุมชนก็ไม่เลว

4.ใช้งบนี้ให้ชุมชนนำไปร่วมกันพัฒนาแหล่งเก็บและวิธีปันน้ำ เพื่อให้เป็นการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำขาดและน้ำแล้งที่ชุมชนดูแลเองได้น้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่เลี่ยงไม่ได้เศรษฐกิจชุมชนจะฟื้นฟูได้จึงต้องมีแหล่งน้ำที่บริหารกันเองได้ในระดับชุมชน
5.คนหนุ่มสาวที่เผ่นกลับมาจากเมืองก็เป็นทรัพยากรที่ชุมชนพึงรักษาไว้โอกาสกระจุกตัวในเมืองใหญ่คงไม่กลับมาง่ายๆอย่างเคยแล้วระบบอัตโนมัติ..ระบบหุ่นยนต์..และระบบกระจายความเสี่ยงต่างๆจะทำให้แหล่งงานเชิงอุตสาหกรรมค่อยๆหดหายไปอย่างมองไม่ทันเห็น          

การให้คนหนุ่มสาวเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการผลิต การค้า การแปรรูปและการดูแลบุคลากรเปราะบางทางสังคมอย่างมีคุณค่า จึงต้องรวมเข้าไปในแผนฟื้นฟูชุมชนทางสังคมและเศรษฐกิจด้วยนี่ดูจะเป็นปฐมบทที่ สมาชิกของชุมชนทุกวัยจะได้ทยอยกลับมาอยู่ใช้ชีวิตร่วมกันจริงจังเป็นครั้งแรกหลังยุคอุตสาหกรรมนิยม

ที่แม้แต่ผีน้อยและช่างไทยที่ไปต่างแดนก็ทยอยกลับอ้อมอกแม่..และญาติมิตรเขาเหล่านี้หลายคนเคยผ่านประสบการณ์สหภาพแรงงานฝ่ายลูกจ้างที่อาจนำความคิดความรู้มาร่วมงานกับระบบสหกรณ์ของพื้นที่ในการจัดสมดุลใหม่ที่ดีกว่า ระหว่างชุมชนกับสหกรณ์ได้ด้วย