นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า สินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากสามารถขยายตัวได้ในตลาดสำคัญ แม้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญภาวะหดตัวจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าส่งออก 1,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดอาเซียนมากที่สุด มูลค่า 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา คือ สหรัฐฯ มีมูลค่าส่งออก 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของตลาด พบว่าเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 17.5% โดยสหรัฐฯ ขยายตัวสูงสุด 68% รองลงมา คือ ออสเตรเลีย ขยายตัว49 % และอาเซียน ขยายตัว 26%
ทั้งนี้ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนขยายตัว โดยปัจจุบัน มี 15 ประเทศคู่เอฟทีเอที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ ทำให้ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าส่งออก สูงถึง 5,515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากจีน ทั้งนี้ ตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2562 ไทยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอกว่า 3,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 55 % ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นประเทศคู่เอฟทีเอทั้งสิ้น ได้แก่ อาเซียน มูลค่าการส่งออก 1,364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่าการส่งออก 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ญี่ปุ่น มูลค่าการส่งออก 458 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนมีการขอใช้สิทธิส่งออกไปยังประเทศคู่เอฟทีเอสูงมากเป็นอันดับ 8 จากรายการสินค้าที่ใช้สิทธิทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง สัดส่วน 73 % ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด
“ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันสูง โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและมาตรฐาน จึงเชื่อมั่นว่าศักยภาพที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทย และแต้มต่อจากเอฟทีเอ จะเพิ่มโอกาสให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยเติบโตขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนได้เองในประเทศ แต่ยังมีส่วนประกอบบางตัว เช่น คอมเพรสเซอร์ ที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลัก (สัดส่วน 60% ของการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศทั้งหมด) ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการรองรับด้านวัตถุดิบให้เพียงพอ เช่น หาแหล่งวัตถุดิบสำรอง ซึ่งปัจจุบันการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศจากประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยทั้งหมด 17 ประเทศไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้ว (ยกเว้นการนำเข้าจากฮ่องกงคงภาษีอัตราที่ 1-8%)