นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่าและการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) นั้น ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ การรถไฟฯ
ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของการรถไฟฯ 100% แต่สามารถสร้างรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับการส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา ประกอบด้วย
1.สัญญา ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,856 สัญญา 2.สัญญาฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ จำนวน 6,369 สัญญา 3.สัญญาฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 8 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่
ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทลูกของการรถไฟฯ นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่และเจรจากับบุคคลที่สาม หรือร่วมทุนกับเอกชน เพื่อรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการ
นอกจากนี้การส่งมอบสัญญาดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯ หรือซื้อที่ดินจากองค์กรอื่นมาพัฒนาและบริหารจัดการ
ทั้งนี้ บริษัทต้องแบ่งผลตอบแทนให้กับการรถไฟฯ ในฐานะผู้บริหารสัญญา ร้อยละ 5 ของรายได้จากค่าบริหารสัญญา
นายวีริศ กล่าวต่อว่า หลังจากการส่งมอบสัญญาให้บริษัทเอสอาร์ที แล้วเสร็จ เบื้องต้นรฟท.ได้ตั้งเป้ามีรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นในปี 68 จำนวน 4,000 ล้านบาทต่อปี
จากปัจจุบันที่รฟท.มีรายได้อยู่ที่ 3,700 ล้านบาทต่อปี และตั้งเป้าหมายภายใน 4 ปี จะมีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นรวม 20,000 ล้านบาท
"เรายืนยันว่าภายใน 2 ปี จะเดินหน้าเปิดประมูลพื้นที่แปลงใหญ่ได้ เช่น พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ,พื้นที่สถานีแม่น้ำ ฯลฯ" นายวีริศ กล่าว
สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อีก 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่และสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ นั้น เบื้องต้น บริษัท SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ ออกเป็น 3 ระยะ
ทั้งนี้ในระยะแรก จะดำเนินการในปี 2568 จำนวน 7 แปลง ประกอบด้วย โครงการบางซื่อ - คลองตัน (RCA) ,โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย ,โครงการตลาดคลองสาน โครงการสถานีราชปรารภ(แปลง OA)
โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อตก.) ,โครงการย่านบางซื่อ(แปลง A2) สถานีขนส่ง และโครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5)
ส่วนที่เหลือนั้น จะดำเนินการในปี 2569 – 2572 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ส่งผลการศึกษาที่ดินแปลงที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ (Non Core) จำนวน 28 แปลงดังกล่าวให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 แล้ว
ขณะที่การมอบสัญญาเช่าบางส่วนให้กับบริษัท SRTA นำไปศึกษาและดำเนินการจัดทำแผน เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ด้วย
นายวีริศ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่
และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไป ทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 33,761 ไร่
“การส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาสินทรัพย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ ให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดกับการรถไฟฯ อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป“ นายวีริศ กล่าว