นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขียนความเห็นเกี่ยวกับCPTPPในเฟสบุ้คส่วนตัววันนี้ ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอฟทีเอ.(FTA)เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และเคยทำงานด้านการปฏิรูปประเทศสมัยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ขอแลกเปลี่ยนมุมมองของผมด้วยร้อนใจเกรงว่าจะเกิดการเดินหลงทางผิดทิศและผิดเวลา
"สำหรับผมคิดว่า ประเทศไทยยังไม่ควรพิจารณาการเข้าร่วมกลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างหลายภาคส่วนและขณะนี้วิกฤติโควิด19ลามไปทั่วโลกจึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะพิจารณาในเรื่องนี้"
จึงฝากข้อคิดอย่างน้อย6ประการให้พิจารณา ได้แก่ 1. วิกฤติโควิด19เปลี่ยนโลกประเทศไทยยังไม่ควรทำความตกลง FTAใดๆเพิ่มเติมรวมทั้งCPTPPเพราะระบบการค้า การบริการและการลงทุนของโลกจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ภายหลังวิกฤติโควิด19 จึงไม่ควรเร่งรีบพิจารณาในขณะที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง 2. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจประเทศประเทศไทยในวันข้างหน้าต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติยืนบนขาตัวเองมากขึ้นโดยปรับลดสัดส่วนการพึ่งพารายได้จากการส่งออกจาก70%เป็น50% ของGDPซึ่งเป็นเป้าหมายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การคิดใช้ซูเปอร์FTAในการขยายการส่งออกและการลงทุนโดยพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้นจึงเป็นการเดินหลงทางผิดทิศหรือไม่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงต้องยึดเป้าหมายยึดหลักให้มั่นคงการปฏิรูปจึงจะเกิดขึ้นจริง
3.ศึกษารอบด้านหรือยังCPTPPเป็นรูปแบบซูเปอร์FTAที่ต้องเปิดเสรีเพิ่มขึ้นกว่าทุกFTAที่ประเทศของเราเคยทำทั้งภาคการค้า การบริการและการลงทุน การศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านในระดับประเทศเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนการตัดสินใจสุดท้าย 4. ผลกระทบเมล็ดพันธุ์และยาข้อกังวลประเด็นยาและเมล็ดพันธุ์ใหม่รวมทั้งGMOเป็นประเด็นกระทบคนยากจนและเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคจึงควรให้น้ำหนักในการเปิดกว้างรับฟังและวิเคราะห์ผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวตลอดจนการป้องกันการผูกขาดของบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ทั้งบริษัทในประเทศไทยและในต่างประเทศ
5.ศึกษาUPOVตกผลึกแล้วหรือ? การวิเคราะห์เชิงโอกาสและปัญหากรณีUPOVยังไม่สมบูรณ์และเป็นประเด็นสำคัญต่ออนาคตของไทยในฐานะประเทศผู้เป็นแหล่งผลิตเกษตรและอาหารของโลก (UPOV-The International Union for the Protection of New Varieties of Plants อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่)
6. CPTPPเป็นทางเลือกสุดท้ายหรือ?การประเมินความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าร่วมCPTPPหลังจากอเมริกาถอนตัวCPTPP มีสมาชิก11ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ในจำนวนนี้9ประเทศทำFTAกับประเทศไทยอยู่แล้ว เราสามารถเจรจาขยับขยายความร่วมมือภาคการค้า การบริการและการลงทุนในFTAเดิมจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่
ขณะที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch เชิญประชมชน “ร่วมชุมนุมออนไลน์” โดยการถ่ายภาพตนเองพร้อมข้อความขึ้นหน้า wall ใส่แฮชแท็กข้อความต่อไปนี้
#NoCPTPP #อย่าฉวยโอกาส #วิกฤติโควิดต้องคิดใหม่ #ไม่เอาCPTPPการค้าล้าหลัง #เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม #ความมั่นคงทางอาหาร #ความมั่นคงทางยา #คือความมั่นคงของสังคม #CPTPP #MobFromHome
แล้วแชร์ไปยังทุกช่องทางสื่อสาร ตั้งแต่ 06.00 น. วันนี้ (27 เม.ย.) เพื่อต่อต้านการกระทำของคณะรัฐมนตรีเตรียมลงมติเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ตามข้อเสนอของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พรุ่งนี้ (28 เม.ย.)
ทั้งนี้ในการเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่ประเทศไทย อาทิ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย หรือเอสเอ็มอี รวมทั้ง การจำกัดพื้นที่สาธารณะของรัฐในการคุ้มครองประชาชน
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทางเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวขอคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกษตรกรมีความลำบากเป็นทาสถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถแข่งขันได้จะขาดแคลนอาหารไม่มีความมั่นคงทางจะเป็นทาสทุนข้ามชาติตลอดไป
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่าผมว่าถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็เท่ากับใม่รำลึกถึงภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ดูแลเกษตรกรมาหลายชั่วอายุคนถ้าถูกทำลายในครั้งนี้ประวัติศาสตรจะต้องจารึกใว้ชั่วลูกหลานแน่นอน ที่สำคัญเป็นความวิบัติของการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองหรือเกษตรแบบยั่งยืนอย่างแท้จริงอาจจะกล่าวว่า CPTPP ขัดแย้งกับหลักการเกษตรพอเพียง ของในหลวง ร.9 ทั้งมวล
เช่นเดียวกับนายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีปฏิเสธข้อเสนอของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่เตรียมการขอความเห็นชอบจาก ครม.ในวันอังคารที่ 28 เมษายน 2563 เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991
เช่นเดียวกับนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาทั่วประเทศขอคัดค้านการเข้าร่วมผูกพันข้อตกลงการค้า “CPTPP” มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย แล้วชาวนาจะตกเป็นเบี้ยล่างต้องเสียเงินไปซื้อพันธุ์ข้าวทุกปี เพราะโดยปกติชาวนาจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้ทำพันธุ์อย่างน้อย 3-4ปีจะซื้อพันธุ์ใหม่ครั้งหนึ่ง แล้วเมื่อพันธุ์ยังดีอยู่จะนำพันธุ์ไปขายกันในระหว่างชาวนากันเอง ซึ่งต่อไปจะไม่ได้เพราะขายไปก็มีความผิด ตั้งคำถามว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง