นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก ร่วมกับ 6 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ว่า ภาคธุรกิจบริการถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของไทย โดยเฉพาะ ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับภาพยนตร์ เอนิเมชัน รวมทั้งการทำโฆษณา เพลง เกมส์ การ์ตูน โดยมูลค่าของธุรกิจในส่วนนี้รวมกันในแต่ละปีประมาณ 110,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจบริการภาคนี้เติบโตต่อไปในอนาคต เพราะว่าตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศกว้างใหญ่มาก
โดยได้เตรียมมาตรการทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การร่วมสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์ ไทยแลนด์ เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลและศูนย์รวมการทำธุรกิจทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศของภาพยนตร์ ละคร เอนิเมชัน อีสปอร์ต เพลง หรือธุรกิจการ์ตูนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในเรื่องของการศึกษา หรือ e-learning
2.ดำเนินการปรับรูปแบบของการจัดนิทรรศการ ซึ่งเดิมใช้กระบวนการจับคู่ธุรกิจ ให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเดินทางมาพบกับผู้ขายหรือผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย แต่ปัจจุบันสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย จะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ให้มากขึ้น ทั้งส่งเสริมตลาดในประเทศและส่งเสริมตลาดในต่างประเทศ โดยจะจัดให้ถี่ขึ้นและโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจนี้เติบโตได้เร็วขึ้น
3.ช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เนื่องจากขณะนี้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนติดขัดในเรื่องของการทำธุรกิจ จะช่วยดำเนินการจัดให้ธนาคารช่วยเหลือเงินสนับสนุนในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดเวทีพบปะให้
4.สร้างแบรนด์ของคนไทยขึ้นมาเอง เพื่อแทนที่การรับจ้างผลิตเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาร่วมมือกับทั้ง 6 สมาคมประกอบด้วยสมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคมดิจิตอลคอนเทนต์บันเทิงไทย สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ เพื่อที่จะให้มีการจับคู่ลงทุนทางธุรกิจนี้ภายใต้แบรนด์ของคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนจัดกิจกรรมสำคัญเพื่อสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ โดยวันที่ 25-27 พ.ค.2563 จะจัดงานแสดงสินค้าที่ใช้ชื่อว่า MOVE ( Multimedia online virtual exhibition) ในรูปแบบของการจัดจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตของไทยประมาณ 50 บริษัท พบปะกับผู้ซื้อจากต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้ามาพบปะประมาณไม่ต่ำกว่า 1000 รายในรูปแบบออนไลน์ คาดว่าจะสามารถทำให้เกิดการจับคู่ซื้อขายทางธุรกิจได้ประมาณ 350 คู่ และสามารถกำหนดยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 1000 ล้านบาทโดยประมาณ