ไทยมีการนำเข้าสารเคมี 3 ประเภท ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช ซึ่งในปี 2562 นำเข้า 1.31 แสนตัน มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการนำเข้าต่ำสุดในรอบ 10 ปี(กราฟิกประกอบ) ผลจากช่วง 2-3 ที่ผ่านมามีมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี และผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (30 เม.ย.63) มีมติคงการประกาศแบน 2 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซต ให้คงมาตรการจำกัดการใช้นั้น
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับมติให้คงแบน 2 สารตามกำหนดการเดิม ส่วนเรื่องสารไกลโฟเซต ต้องนำมาคุยใหม่ ว่าการจำกัดการใช้ จำกัดแบบไหน เพราะที่ผ่านมาการจำกัดการใช้ไม่ประสบความสำเร็จ จากเกษตรกรบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือ และยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ
มนัญญา ไทยเศรษฐ์
ดังนั้นหนึ่งในมาตรการที่จำเป็นเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเคมีคือ การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทางเว็บไซต์ของกรมฯ ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 15 วัน มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน โดยสัดส่วน 93.49% เห็นด้วย และ 6.51 % ไม่เห็นด้วย
สาระสำคัญของร่างประกาศ คือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย (โรงงาน 143 โรงงาน) ต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน) สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว ให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
“สาเหตุที่จำเป็นต้องให้โรงงานมีมาตรฐาน ISO เพราะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หมดทุกขั้นตอน ซึ่งในเร็ว ๆ นี้จะมีการนำสารเคมีอีกหลายตัวมาแบนต่อไปอีก ไม่ใช่จบแค่นี้ กล่าวคือหากสารเคมีชนิดใดมีพิษและเป็นอันตรายก็จะมาแบนต่อ หากไม่ได้ก็จะใช้วิธีจำกัดการใช้แทน เพราะประเทศไทยมีสารเคมีจำนวนมาก มีการนำเข้าตัวใหม่ๆ ขณะที่ตัวเก่าก็ยังใช้อยู่ ทำไมไม่เอาออกไปบ้าง อย่างไรก็ดีต้องขอขอบคุณทุกกำลังใจที่สนับสนุนทางกระทรวงฯในการแสดงจุดยืนแบนสารพิษเพื่อปกป้องเกษตรกรปกป้องผู้บริโภค ซึ่งเราทำด้วยใจบริสุทธิ์”
ขณะที่นายสืบวงศ์ สุขะมงคล นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า การยกเลิกแบน 2 สารเคมีเกษตรข้างต้น ต้องติดตามว่า หลังแบนแล้วเกษตรกรและคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งลดลงจริงหรือไม่ เพราะสารเคมีถูกนำมากล่าวอ้างว่าทำให้คนไทยเป็นมะเร็งมากที่สุด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีการใช้สารเคมีทั้ง 3 สาร แต่ติดอันดับประเทศที่คนอายุยืนที่สุดในโลก ย้อนแย้งกันหรือไม่
สืบวงศ์ สุขะมงคล
“อนาคตการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ หากต้นทุนในประเทศสูง จากการแบนใช้สารเคมีในพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารต้องมีสารตกค้างเป็นศูนย์ ผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะเบนเข็มไปเลี้ยงที่ประเทศเพื่อนบ้านกันหมด ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในไทย เพื่อนบ้านก็จะได้ประโยชน์แทน และอย่าลืมว่าการแบนสารเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง หากประเทศที่ไทยนำเข้าสารเคมีใช้มาตรการกีดกันสินค้าไทยเพื่อเอาคืน ไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลกก็อาจกระทบเช่นกัน เรื่องนี้เป็นการบ้านรัฐบาลต้องนำไปคิดและหาทางออก”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563